ความเพียรชอบอาศัยสติ

ความเพียรชอบกับความเพียรอย่างที่เราคิดกันมันคนละเรื่องกัน ความเพียรชอบเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น จะทำได้ก็อาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บ กิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมา กุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ก่อนที่เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต้องซ้อมไว้ก่อน การซ้อมก็คือการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วต้องมีวินัยในตัวเอง ถ้าเราไม่มีวินัยในตัวเอง เราก็จะอ้าง มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ปฏิบัติ ทีเรื่องอื่นขาดไม่ได้ แต่เรื่องปฏิบัตินี้ขาดได้ เว้นได้ ใจมันไม่เด็ดพอ ใจแบบนี้โอกาสได้มรรคผล ยาก ต้องใจเด็ดจริงๆ ใจเข้มแข็งจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดี ในทางธรรมะในชีวิตนี้ เราไม่พูดถึงว่าจะสะสมบารมีอีกหลายภพหลายชาติแล้วจะได้ธรรมะ เสียเวลา ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้าไม่มีข้ออ้าง จะต้องทำอีกนานๆ ถึงจะได้

อนุปุพพิกถา

กามคุณทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย ที่ว่าเราอุตส่าห์ทำบุญทำทาน เราขึ้นสวรรค์มาเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ถึงวันหนึ่งเทวดาก็ตกสวรรค์ หรือเราเป็นคนดีแท้ๆ เลย บางทีอกุศลให้ผลมา เราก็เจอสิ่งที่ไม่ดีขึ้นมา ฉะนั้นท่านยังสอนว่ามันมีโทษ สอนให้รู้จักปลีกตัวออกจากสวรรค์บ้าง สวรรค์ก็คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ท่านก็สอนบอกสิ่งเหล่านี้ไม่ยั่งยืน ให้มาพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไป สูงกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก คือการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 นี่หลักธรรมที่ท่านสอน จะมาสู่จุดนี้ เรียกว่าอนุปุพพิกถา คนแรกที่ได้ฟังอนุปุพพิกถาคือ

จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

วิธีทำความรู้สึกตัว

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป