ทุกวันปฏิบัติในรูปแบบ ระหว่างวันใช้เห็นจิตหลงแล้วตามรู้ ส่วนใหญ่จิตหลงไปคิดทั้งวัน

ทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ ฝึกให้สม่ำเสมอ มันก็จะพัฒนามากขึ้นๆ รู้ทันการทำงานของจิตไปเรื่อยๆ หายใจไปพุทโธไปเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องสังเกตเมื่อไรจิตมันหนีไป มันก็จะลืมหายใจ ลืมพุทโธ เพราะฉะนั้นที่เราหายใจ เราพุทโธ เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิตเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นเครื่องบังคับจิต ถ้าบังคับจิตเดี๋ยวจิตเครียด สมาธิก็ไม่เกิดหรอก สมาธิไม่เกิดปัญญาก็ไม่เกิด

ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน ยังฟุ้งซ่านบ่อย เคยเห็นจิตวิ่งไปดูมือแต่เป็นเหมือนมือคนแก่

เราภาวนา ไม่ได้มุ่งไปสร้างภพสร้างชาติอะไรขึ้นมาอีก ถ้าภาวนาแล้วเราไปสร้างภพ แสดงว่าไปด้วยตัณหาแล้ว ถ้าเราไปด้วยฉันทะ เราพอใจที่จะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราพึงพอใจได้นั่งสมาธิ เดินจงกรม ได้ทำทาน ได้รักษาศีล ได้แยกรูปแยกนาม พระพุทธเจ้าสอนไว้เราทำตามด้วยความพอใจ ได้ปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่เพื่อเอาอะไรทั้งสิ้น ถ้าปฏิบัติเพื่อเอาคือตัณหา ปฏิบัติเพื่อจะลดละ ปล่อยวาง คือตัวฉันทะ ฉะนั้นเราสังเกตใจตัวเราเองไปเรื่อยๆ ภาวนาไป เรียนรู้มันไป

บางวันพอเห็นรูปนามแสดงไตรลักษณ์ได้บ้าง แต่บางวันเหมือนภาวนาไม่เป็น

ถ้าเราจงใจจะให้จิตมีกำลัง แต่เราไปจงใจตั้งอยู่อย่างนี้ กำลังของจิตยังไม่เยอะพอหรอก เพราะว่าจิตใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนเรามีมือถือ ตอนนี้เราบอกเราไม่ได้ใช้งาน แต่มันก็กินแบตเตอรี่ ไปเรื่อยๆ เราก็ชัตดาวน์มันเสีย เพราะฉะนั้นเราไม่ไปปรุงอะไรขึ้นมา นี่ก็เป็นภพๆ หนึ่งที่จิตปรุงขึ้นมา คลายออกมาเป็นจิตธรรมดา จิตธรรมดาจะไม่ค่อยใช้พลังงานเท่าไร จิตจะค่อยๆ สะสมพลัง พลังงานมันจะเยอะขึ้นๆ แล้วมันจะตั้งมั่นเด่นดวงโดยที่เราไม่ได้เจตนาทำขึ้นมา

ไม่ชอบสภาวะที่เกิด ปัญหาคือใจก็ยังวางไม่ได้ ใจยังคงเข้าไปคลุกกับอารมณ์อยู่

ปฏิบัติต่อไป การวางเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราสั่งให้จิตวางอะไรไม่ได้หรอก แต่ถ้าปัญญามันเกิด จิตมันวางของมันเอง อย่างมันเห็นความจริงว่าร่างกายเป็นทุกข์ จิตมันวางของมันเอง ฉะนั้นเราสั่งให้วางไม่ได้ ตัวที่ทำหน้าที่ละ หน้าที่วางคือตัวปัญญา เราก็สะสมของเราไป การภาวนามันเหมือนการเรียนหนังสือ กว่าเราจะได้ปริญญาตรีเราเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม นานเป็นสิบๆ ปีเลย กว่าจะได้ปริญญาสักใบหนึ่ง กว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน ภาวนากันนาน กว่าจะได้ สะสมกันหลายภพหลายชาติ ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ เมื่อไรเราจะแยกขันธ์ได้ พอเราเห็นพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนขันธ์มันแยกได้แล้ว ก็ไม่ต้องสนใจแล้วเมื่อไรจะบรรลุมรรคผล มันบรรลุเอง แยกขันธ์แล้วเห็นขันธ์ทำงานไป แล้วถึงวันหนึ่งมันก็บรรลุมรรคผลของมันเอง อย่าใจร้อน ใจร้อนไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ นอกจากมาบั่นทอนจิตใจของเราเองให้หมดกำลังใจ

ทำในรูปแบบแล้วเครียด จึงใช้ฟังซีดีหลวงพ่อแทนเช้าเย็น เพราะทำงานอยู่ในบ้าน

เราก็เห็นร่างกายทำงานบ้านไปเรื่อยๆ ดูกายเอาไว้ ร่างกายขยับเขยื้อนอะไรรู้สึกไปเรื่อยๆ ไม่ต้องห่วงว่าจะดีไม่ดีหรอก แค่ร่างกายขยับอย่างนี้ รู้สึก เรียกว่าจิตเรามีบ้านอยู่แล้ว คือเอากายเป็นวิหารธรรม ขยับเขยื้อนรู้สึกๆ ไปเรื่อย พวกที่ทำงานบ้านนี่พวกมีบุญ เพราะว่ามันดูได้ทั้งวันเลย ถ้าเราทำงานทางกาย เจริญสติ เจริญปัญญาได้ตลอดเลย เราก็เห็นร่างกายขยับ ดูกายไว้ ไม่ต้องห่วงจิตหรอก เดี๋ยวก็เห็นจิตเอง

เวลาภาวนา เหมือนมีเสียงบอกว่าพอเถอะ พรุ่งนี้ค่อยนั่งก็ได้ยังมีเวลา

เราคิดว่าชีวิตเราอาจจะมีวันนี้วันเดียว พรุ่งนี้อาจจะไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการภาวนานี่จะผัดเวลาไม่ได้ วันนี้พอแล้วพรุ่งนี้ค่อยทำ แล้วเกิดพรุ่งนี้ไม่มี ขาดทุนตายเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อ กิเลสมันหลอกเรา ต้องพยายามคิดว่าเรามีชีวิตอยู่วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ได้การภาวนาจะเข้มแข็งมากเลย ถ้าเราแต่ละคนคิดว่าวันนี้คือวันสุดท้าย ไม่ขี้เกียจหรอก จะรีบภาวนา ตั้งใจไว้ใหม่ อย่าไปเชื่อมัน

ดูสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดูหลงไปคิดแล้วรู้ว่าหลง

ต้องรู้อย่างหนึ่ง จิตที่หลงกับจิตที่มาอยู่กับลมหายใจแล้วพุทโธนี่เป็นคนละดวงกัน ฉะนั้นเราเวลาจิตหลงไป เราไม่ต้องไปดึงคืนมาอยู่ที่ลมหายใจ จิตที่หลง หลงแล้วก็แล้วไป ทิ้งมันไปเลย กลับมาเกิดจิตดวงใหม่ อยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธ ต่อไปเราก็จะเห็นจิตมันก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลง นี่จิตก็ค่อยๆ พัฒนาไป

กลัวความตายมาก เบื่อโลก รู้ทันก็ไม่ดับ และเครียด อยากได้วิธีสู้กับมัน

รากเหง้าของทั้ง 3 ปัญหา มันมีอันเดียวคือการรักตัวเอง ยาที่ตรงที่สุดก็คือการดูลงมา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ นี่ มันเป็นตัวเราจริงไหม ตัดตรงเข้าไปดูตรงนี้เนืองๆ ถ้าทำตรงนี้ได้ ตัวอื่นเราจะแก้ได้เอง ถ้าใจมันลดความรักในตัวตนล่ะก็ ใจมันก็จะไม่ทุรนทุราย ไม่กลัว ไม่กังวล ดูลงมาในร่างกายนี้ที่เรารัก ที่เราหวงแหนนี้ เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ธาตุที่ไหลเวียน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ สอนมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตก็จะผ่านตัวนี้ได้

ภาวนาสม่ำเสมอ บางช่วงมีสติอัตโนมัติ แต่บางช่วงฟุ้งซ่านมาก

ขยันภาวนา ชีวิตก็จะดี มีความสุขมากขึ้น แยกขันธ์เป็นแล้ว เราก็ดูแต่ละขันธ์มันแสดงไตรลักษณ์ของมันไป แต่ละขันธ์ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ พอดูไปสักช่วงหนึ่ง จิตฟุ้งซ่านก็กลับมาทำความสงบ พอสงบพอสมควรแล้ว เราก็ออกไปดูขันธ์มันทำงานต่อ อย่าสงบยาวนานเป็นวันๆ เสียเวลา สงบพอให้ตั้งหลักได้ ไม่ตะลุมบอนกับอารมณ์

รู้ตัวเร็วบ้างช้าบ้าง แล้วจึงเริ่มต้นกับการดูกายหายใจใหม่ รู้สึกว่าบางวันภาวนาได้ดี บางวันภาวนาไม่ค่อยดี

คำถาม:

ทุกวันปฎิบัติในรูปแบบโดยการนั่งสมาธิ ดูกายหายใจผสมกับภาวนาพุทโธ วันละ 20 – 30 นาที และปฎิบัตินอกรูปแบบ โดยการดูกายเคลื่อนไหว ดูกายหายใจ จิตคิด จิตไหล หรือจิตมีกิเลสก็คอยรู้ตัว รู้แล้วเห็นสภาวะนั้นดับไป โดยรู้ตัวเร็วบ้างช้าบ้าง แล้วจึงเริ่มต้นกับการดูกายหายใจใหม่ รู้สึกว่าบางวันภาวนาได้ดี บางวันภาวนาไม่ค่อยดี ขอคำชี้แนะเพื่อภาวนาต่อไปครับ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนามันก็เจริญบ้างเสื่อมบ้าง เป็นธรรมชาติ มันถูกแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องมีเครื่องอยู่ แล้วก็อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อย่างเมื่อกี้หลวงพ่อเทศน์เรื่องปัญญานำสมาธิ ปัญญานำสมาธิไม่ใช่แปลว่าไม่มีสมาธิ ก็ต้องมีสมาธิคือขณิกสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีแล้วรู้อะไรอย่างนี้ เราจะได้ขณิกสมาธิ ต้องฝึก ทุกวันทำทุกวัน สมาธิของเราก็จะค่อยๆ เข้มแข็งมากขึ้นๆ พอสมาธิมันเข้มแข็งแล้ว แล้วเราคอยรู้ทันเวลาจิตมันเคลื่อน จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วมันจะเห็นความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เป็นของแปลกปลอม พอร่างกายเคลื่อนไหวมันก็จะเห็นเลย ร่างกายก็ไม่ใช่จิต เป็นของถูกรู้ถูกดู

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ถูกรู้ถูกดู ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจะเดินปัญญาได้ก็ต้องอาศัยสมาธิ แต่ว่าเป็นแค่ขณิกสมาธิ ฉะนั้นปัญญานำสมาธิไม่ได้แปลว่าไม่มีสมาธิ แต่ต้องมีสมาธิ คือขณิกสมาธิต้องมีก่อน ฉะนั้นถ้าเข้าใจตัวนี้เราก็พยายามฝึกจิตของเราให้มีสมาธิ มีขณิกสมาธินี่ล่ะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตไปทำอะไรรู้ทัน แล้วก็พอรู้ทันแล้วมันก็จะเป็นผู้รู้ขึ้นมา มันก็มาหายใจเข้าพุท – ออกโธอีก หนีไปอีกรู้อีก มันหนีได้ 2 ลักษณะ หนีไปคิดกับหนีไปเพ่ง มันหนีอย่างไรเราคอยรู้เอาก็แล้วกัน ฝึกจนชำนิชำนาญ ต่อไปจิตขยับนิดเดียวเห็นเลย จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้ทั้งวัน ในที่สุดจิตเราก็จะเป็นผู้รู้จริงๆ ในทุกๆ ปรากฏการณ์ อยู่ในชีวิตประจำวันจิตก็ยังเป็นผู้รู้ เห็นโลกธาตุนี้ว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนอะไรหรอก

เราภาวนาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นตัวจิตเองก็ว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนหรอก ถ้าเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นโลก เห็นขันธ์ว่างเปล่า เห็นจิตที่ไปรู้ขันธ์ว่างเปล่า ตรงนั้นเราก็จะได้ธรรมะแล้ว นี้ก็อาศัยฝึกสมาธิทีละขณะๆ นี่ล่ะ ต้องทำ มีเครื่องอยู่ ถ้าไม่ทำจิตเดินปัญญาไม่ได้จริง มันจะฟุ้ง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564
Page 12 of 16
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16