ในชีวิตประจำวันมีสติรู้สึกเมื่อจิตเคลื่อนไปรู้สึกทางกาย ได้ยินทางหู เห็นทางตา คิดทางใจ จิตไปอยู่ตรงไหนเป็นเราตรงนั้น พยายามมีสติทั้งวัน แต่ทำไม่ได้
คำถาม: ภาวนาในรูปแบบนั่งสมาธิก่อนนอนประมาณ 30 นาที ใช้ล …
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
คำถาม: ภาวนาในรูปแบบนั่งสมาธิก่อนนอนประมาณ 30 นาที ใช้ล …
ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ
การที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้
ถ้าจิตเกิดคิดขึ้นมาแล้วเราเป็นคนรู้ ความคิดนั้นจะขาดสะบั้นทันทีเลย แล้วเราจะเห็นสภาวะสุขเกิดดับ เกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ รูปหายใจออกเกิดแล้วดับ รูปหายใจเข้าเกิดแล้วดับ รูปยืนเกิดแล้วดับ รูปนั่งรูปนอนรูปอะไรก็ตามเกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ สุดท้ายจิตมันจะสรุป มันปิ๊งขึ้นมาเลยนะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จริงก็คือ Everything ที่เกิด ทุกสิ่งที่เกิด ทำไมไม่บอกว่าสุขเกิดแล้วดับทุกข์เกิดแล้วดับ เพราะปัญญาตัวนี้เป็นปัญญารวบยอด รวบยอดว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น มันรวบยอดระดับนี้ มันถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งเลย กายเรานี้พอเราเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็แค่วัตถุยืมโลกมาใช้ชั่วคราว ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่วอะไรก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตเองก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เราสั่งจิตไม่ได้ สั่งจิตให้ดีตลอดก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามจิตทุกข์ก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง
สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด
อันแรกก็ถือศีล 5 อันที่สองทำในรูปแบบให้จิตใจได้พักผ่อน ฝึกตัวเองไป อันที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน พอใจมีกำลังแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์มีสติไว้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต รู้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในกาย รู้ รู้ไปเรื่อยๆ เห็นกายไป เห็นจิตไปว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต
เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง ถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย