สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

เห็นสภาวะ แต่จิตไม่มีกำลังมากพอ

คำถาม:

ทำสมาธิภาวนา เห็นว่ากายไม่มี กายว่างเปล่า มีจิตเป็นตัวรู้สภาวะ เห็นจิตเกิดดับบังคับไม่ได้ค่ะ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เห็นก็ดีแล้ว แต่ใจมันต้องแข็งแรงกว่านี้หน่อย ใจยังไม่ค่อยมีกำลังหรอก มันเห็นไปอย่างนี้ มันต้องเห็นแบบ แหม องอาจ ผึ่งผาย อืม เห็น ถ้าเห็นอย่างนี้ เห็นแบบเหี่ยวๆ อย่างนี้ จิตไม่มีกำลังพอ หนูลองหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้น เราทำทุกวันๆ หรือเราเดินจงกรมไป เคลื่อนไหวแล้วทำในรูปแบบไปเรื่อยๆ จิตเราจะมีกำลังขึ้นมา ของหนูนี่ไปทำในรูปแบบ ทำไปเรื่อยๆ พอจิตมันมีกำลังเข้ามา มันจะเห็นสภาวะแล้ว ที่ผ่านมามันเห็นสภาวะ แต่มันเห็นแบบจิตใจห่อเหี่ยวไปหน่อย มันยังไม่มีแรงที่จะตัดกิเลสเลย นี้ถ้าใจเราเข้มแข็ง ทำในรูปแบบทุกวันๆ ใจจะมีกำลังขึ้นมา พอเห็นสภาวะปุ๊บ บางทีปัญญามันตัดเลย เห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เข้าใจขึ้นมา ฉะนั้นเราเพิ่มพลังของสมาธิขึ้น แล้วการเดินปัญญามันจะราบรื่นขึ้น มิฉะนั้นเราเหมือนจะเห็นๆ แต่มันไม่มีแรงพอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564