การภาวนาไม่ยาก

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่มันยากก็เพราะพวกเราคิดมากเกินไป เราคิดว่าการปฏิบัติจะต้องทำอย่างนั้นจะต้องทำอย่างนี้ ซึ่งมันเกินความจำเป็น เกินธรรมดา คิดว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้อะไร สิ่งที่ได้ต้องวิเศษวิโส ผิดมนุษย์มนาเกินธรรมดา คือมันวาดภาพผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น วิธีปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราไปคิดเอามากมาย ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แล้วก็เริ่มเถียงกัน วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ซึ่งมันไม่มีนัยยะอะไรเท่าไรหรอก อันนี้เป็นวิธีการ เป็นกลยุทธ์ที่แต่ละคนก็เลือกใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีอะไร หลักปฏิบัติต้องแม่น มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ หลักมันมีเท่านี้ล่ะ กรรมฐานอะไรไม่สำคัญหรอก ทางใครทางมัน ใช้ได้ทั้งหมดล่ะ แต่ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่ได้รู้ทันจิตตัวเอง มันก็ไม่ได้สาระแก่นสาร

มีปัญญารู้ทุกข์จะละกามได้

ถ้าเราเห็นกายนี้มีแต่ทุกข์แต่โทษ ความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส มันก็จะลดลง ไม่รู้จะเสพไปทำไม เสพแล้วหวังว่าจะมีความสุข แต่เสพแล้วจริงๆ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น เพราะฉะนั้นทางพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สนองกิเลส ไม่ได้ว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น แล้วก็ไม่ใช่กดข่มบังคับตัวเอง อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน อยากสบายก็นอนบนตะปูมันเสียเลย แต่ท่านให้ใช้ปัญญา มีสติ มีปัญญา มีสมาธิคือภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็มีสติระลึกลงไปในร่างกาย พอสติระลึกลงในกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มันจะเห็นความจริงของกาย กายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้เต็มไปด้วยทุกข์ กายนี้เต็มไปด้วยโทษ ไม่น่าปรารถนา เพราะฉะนั้นความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย มันจะลดลงเอง เพราะมันรู้ตัวที่เสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรพวกนี้ ตัวมันเองนั่นล่ะทุกข์แสนทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีปัญญารู้ทุกข์ เราก็จะละกามทั้งหลายได้ ละความหลงโลกได้

สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว

มาดูความจริงของขันธ์ 5

การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง

Page 2 of 2
1 2