รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

ค่อยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์ พอรู้แล้ว ปัญญามันแก่รอบ มันก็ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่ง จะปรุงชั่ว จะปรุงดี หรือพยายามจะไม่ปรุง มันก็คือปรุง ก็คือทุกข์ทั้งหมด พอจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็เข้าถึงความสุขที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ความสุขของความสงบ ความสุขของการพ้นความเสียดแทงทั้งหลาย ความสุขของการไม่มีภาระของใจ ใจมันมีความสุขขึ้นมา

สิ่งที่ควรทำคือความดี

ทานมีโอกาสทำก็ทำ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึกทั้งความสงบ ทั้งการเจริญปัญญา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เท่ากับเราได้ใช้ชีวิตของเรา ใช้ร่างกายของเรา ทำประโยชน์สูงสุดให้ตัวเองแล้ว การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นประโยชน์รองลงไปแล้ว แต่ประโยชน์ที่สำคัญเลยคือพัฒนาตัวเองได้ นำตัวเองไปสู่ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก พ้นทุกข์ได้

มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศล รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน

ปัจจัย 4 ของจิต

ศีลเป็นเสื้อผ้าของจิต ถ้าศีลเราดีคล้ายๆ เราแต่งตัวเรียบร้อย ไปเข้าสังคมที่ไหนก็องอาจกล้าหาญ จิตก็ต้องมีบ้านเหมือนกัน เวลาอยู่บ้านเรารู้สึกปลอดภัย จิตที่มีสมาธิมีวิหารธรรม มันจะรู้สึกปลอดภัย ไม่กลัวอะไร ร่างกายยังต้องการยารักษาโรคด้วย จิตก็ต้องการ โรคของจิตก็คือกิเลส สิ่งที่จะล้างกิเลสได้คือตัวปัญญา 

ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค

เวลาที่มรรคผลจะเกิด ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องพร้อม
ฉะนั้นเราต้องทำให้พร้อมนะ
ท่านบอก กุศลทำให้ถึงพร้อม ไม่ใช่เจริญปัญญอย่างเดียวแล้วจะบรรลุได้
ศีลก็ต้องรักษา สมาธิก็ต้องทำ
ฉะนั้น ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาไม่พร้อม
อริยมรรคก็ไม่เกิด
ต้องทำเหตุกับผลให้ตรงกัน
อยากได้ผลอย่างนี้ ก็ต้องทำเหตุอย่างนี้

Page 7 of 7
1 2 3 4 5 6 7