ดับทุกข์ที่ตัวเหตุ

ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า

การสุ่มตัวอย่างมาเรียน

การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานจะด้วยกาย เวทนา จิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง ก็ทำไปเพื่อให้เกิดสติบ่อยๆ สติปัฏฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง มี 2 ระดับ เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว

รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด

เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดของเราก็จะสะอาด การกระทำของเราก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ใจที่อยากพ้นโลกจะมีความพากเพียร

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัด วัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว

เดินจิตในทางสายกลาง

กิเลสเกิดขึ้นในใจเรา เราต้องไม่ตึงไปแล้วก็ไม่หย่อนไป หย่อนไปคือตามใจกิเลส ตึงไปก็คือพยายามละกิเลส กิเลสนั้นไม่ต้องละ กิเลสอยู่ในสังขารขันธ์อยู่ในกองทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ไม่ใช่การละ ฉะนั้นจิตมีราคะขึ้นมา ท่านถึงบอกว่า จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ท่านไม่ได้สอนว่าจิตมีราคะให้ละเสีย ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ถ้าให้ละเสียตึงไป เครียด แต่ท่านให้รู้ แล้วก็ไม่ได้ให้ตามใจ ถ้าตามใจก็คือหย่อนไป ถ้าพยายามไปดับกิเลส ไปละกิเลส อันนี้ตึงไป ถ้ากิเลสเกิดรู้ว่ากิเลสเกิด เห็นว่ากิเลสกับจิตมันก็คนละอันกัน เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับไป กิเลสเองก็เกิดดับๆ ได้ นี่ทางสายกลาง ตรงที่เราเห็นกิเลสเกิดขึ้นแล้วมันดับปั๊บไป จิตมีสมาธิ แล้วเราก็เห็นไปเนืองๆ เห็นบ่อยๆ กิเลสเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ต่อไปปัญญามันก็เกิด มันจะรู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิดได้มันก็ดับได้ ไม่ต้องไปดับมันหรอก มันดับของมันเอง เมื่อเหตุของมันหมดมันก็ดับ กิเลสมันเป็นอนัตตา ละมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิดท่านถึงไม่ได้บอกให้ละ แต่ท่านให้เห็น ให้รู้มัน ราคะเกิดรู้ว่ามีราคะ โทสะเกิดรู้ว่ามีโทสะ โมหะเกิดรู้ว่ามีโมหะ รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าพยายามละ ตึงไป ถ้าตามใจมัน นี่หย่อนไป ถ้าตามใจมันก็จะไปอบาย ถ้าไปต้านมัน ไปต่อต้านมันก็ไม่ทำชั่วอะไร ไปสุคติได้ แต่ไม่ได้ไปมรรคผลนิพพาน ไม่ถึง ไม่เกิดมรรคผล เพราะไม่ใช่ทางสายกลาง

รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง จิตมันสงบ บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ
มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน

โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

พัฒนาเครื่องมือให้ดี

อันแรกถือศีลไว้ แล้วก็ฝึกสติของเรา คอยระลึกรู้กาย คอยระลึกรู้ใจเนืองๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาระลึก พอมีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติเกิดเอง มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดเอง สติตัวนี้เป็นสัมมาสติแล้ว แล้วจิตมันเคลื่อนไปๆ หลงไปที่อื่น รู้ทัน หลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน หลงไปแสวงหาอารมณ์ว่าจะดูอะไรดี ควานๆๆ รู้ทัน สติรู้ จิตก็เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา

Page 5 of 7
1 2 3 4 5 6 7