ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้

จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

เราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย

รู้สภาวะที่เรารู้ได้

พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

การภาวนาไม่ยาก

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่มันยากก็เพราะพวกเราคิดมากเกินไป เราคิดว่าการปฏิบัติจะต้องทำอย่างนั้นจะต้องทำอย่างนี้ ซึ่งมันเกินความจำเป็น เกินธรรมดา คิดว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้อะไร สิ่งที่ได้ต้องวิเศษวิโส ผิดมนุษย์มนาเกินธรรมดา คือมันวาดภาพผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น วิธีปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราไปคิดเอามากมาย ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แล้วก็เริ่มเถียงกัน วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ซึ่งมันไม่มีนัยยะอะไรเท่าไรหรอก อันนี้เป็นวิธีการ เป็นกลยุทธ์ที่แต่ละคนก็เลือกใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีอะไร หลักปฏิบัติต้องแม่น มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ หลักมันมีเท่านี้ล่ะ กรรมฐานอะไรไม่สำคัญหรอก ทางใครทางมัน ใช้ได้ทั้งหมดล่ะ แต่ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่ได้รู้ทันจิตตัวเอง มันก็ไม่ได้สาระแก่นสาร

อุบายของครูบาอาจารย์

บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนิมิต บางท่านท่านเข้าใจความจริง อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบาย เป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้ เป็นอุบายของท่าน บางองค์ พระพุทธเจ้าท่านบอกตรงไปตรงมาที่สุดเลย แล้วพวกเรารับไม่ค่อยได้ มันไม่เคยรู้จักสิ่งซึ่งเหนือรูปธรรมนามธรรมขึ้นไป พอฟังแล้วมันรับไม่ได้ ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ก็เลยหลอกๆ เอา สร้างอะไรที่ปลุกเร้าให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างทำวัตถุมงคลมาเพื่อให้เรารักษาศีล เพื่อให้เรานั่งสมาธิ แล้วก็สอนโน่นสอนนี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เพื่อเราจะได้ไม่ได้ทำผิดศีล เป็นอุบายมากมาย ถ้าเรามัวแต่ติดอุบาย เราก็ไปไหนไม่ได้หรอก แหวกอุบายไม่ออก ถ้าแหวกออกก็จะเข้าใจร้อง โอ๊ย สติปัญญาครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา สอนคนโง่ๆ อย่างเราให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้

Page 4 of 7
1 2 3 4 5 6 7