ทำสมถะเพื่อให้จิตมีแรงและตั้งมั่น

เราก็ต้องรู้ว่า เราจะทำสมาธิเพื่ออะไร ทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้มีแรง เพื่อให้จิตตั้งมั่น ตอนไหนจิตไม่มีแรง น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญที่ตัวอารมณ์ จิตก็จะมีกำลัง เพราะจิตไม่ได้วิ่งวอกแวก ไปที่อารมณ์โน้นทีอารมณ์นี้ที เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน จิตก็เลยมีแรง วิธีทำให้จิตตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ได้น้อมจิตไปหาลมหายใจ ไม่ได้น้อมจิตไปที่พุทโธ แต่รู้ทันจิต ฉะนั้นสมาธิ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกที่ทำเพื่อความสงบนั้น ตัวอารมณ์เป็นพระเอก อย่างที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวจิตเป็นพระเอก 2 อันนี้จะแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

อยู่กับโลกให้เป็นจะภาวนาง่าย

อยู่กับโลก ต้องรู้จักมัน ต้องเข้าใจมัน ถ้าเราอยู่กับโลก จิตใจเราสงบสุข สบายตามสมควรกับอัตภาพแล้ว การที่เราจะมาถือศีลมาภาวนามันจะไม่มีเครื่องกังวลใจ การประพฤติตัวให้สะอาดหมดจดสำคัญ จะทำให้เรามีความสุข ถ้าเมื่อไรเราย้อนมาดูตัวเองแล้วเราไม่เห็นข้อบกพร่อง ผิดศีลผิดธรรม หรือบางทีมองตัวเองไม่ออก พรรคพวกเพื่อนฝูงที่ดีเขาก็เห็นว่าเราดีจริง หรือครูบาอาจารย์เห็นว่าเราดีจริง คนอย่างนี้ใจมันสงบสุข ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างสะอาดหมดจด เวลาเราลงมือภาวนาจิตมันจะรวมง่าย หายใจไม่กี่รอบก็จิตรวมแล้ว ถ้าฝึกจนชนิชํานาญ นึกอยากให้จิตรวมก็รวมทันทีเลย แต่ถ้าใจเราเศร้าหมอง มีแต่เรื่องชั่วๆ มีแต่ความหวาดระแวง นั่งให้ตายมันก็ไม่รวมหรอก จิตมันภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสอยู่กับโลกอยู่อย่างฉลาด

คุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี

หน้าที่ของชาวพุทธเราคือเราเป็นนักศึกษา ทำหน้าที่ศึกษาตัวเองให้ถ่องแท้ไป สํารวจใจเรา เรามั่นคงกับพระรัตนตรัยแค่ไหน หรือเราเห็นพระรัตนตรัยเป็นบ่อเงินบ่อทอง เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ คนจํานวนมากเอาศาสนาไปแสวงหาผลประโยชน์ เรามีศีลดีงามไหม สํารวจตัวเอง ถ้าศีลเรายังด่างพร้อยอยู่ เราก็ยังไม่ใช่ชาวพุทธที่ดี ไม่ใช่ลูกที่ดีของพระพุทธเจ้า เราไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราถือศีลแล้วเราไม่ถือ อีกข้อหนึ่งก็คือเราเชื่อกฎแห่งกรรมไหม หรือเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หรือบางวันไม่เชื่อเลยอะไรอย่างนี้ สํารวจตัวเอง คนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะเชื่อว่า เราจะต้องพ้นทุกข์ไปด้วยความเพียรของเราเอง

ต้องปฏิบัติให้ครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัติเราต้องทำให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง การภาวนาก็จะล้มเหลว ศีลก็ฝึกตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส สมาธิก็ฝึกให้จิตใจสงบจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว แล้วอาศัยช่วงเวลานั้นมาเจริญปัญญา ถ้าเราเอาใจที่ปนเปื้อนกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริง ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของสำคัญ ขาดไม่ได้

ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ไม่ให้ไหลตามกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเป็นเครื่องล้างผลาญทำลาย ขุดรากถอนโคนกิเลส 3 สิ่งนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งก็สู้ยาก สู้ไม่ไหว

จิตตั้งมั่นทำให้เราเจริญปัญญาได้

สมาธิที่ดี มันมาจากกำลังของสติ สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันรูปนาม กายใจของเรานี้ หรือสติปัฏฐานก็อยู่ในรูปนามทั้งหมดนั่นล่ะ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เรารู้ จิตเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติรู้ทัน มีสัมมาสติแล้ว สัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ทันปุ๊บ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็จะตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่น ทำขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นของปลอม แต่เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ เพราะกำลังของสติที่รู้กายรู้ใจ อาศัยสติแล้วจิตเราจะตั้งมั่น คือเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา พอเกิดสัมมาสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว มองโลก โลกนี้เริ่มจากกายจากใจของเรา กายกับใจของเราก็คือโลก รูปนามทั้งหลายคือโลก สัตว์ทั้งหลายคือโลก แล้วก็มองความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ตรงที่จิตตั้งมั่นถึงจะทำให้เราเจริญปัญญาได้ จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง

สมบัติ 4 – วิบัติ 4

ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี คือ เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่า ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน ตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

เลิกหาความสุขแบบหมาขี้เรื้อน

พระนิพพานเป็นบรมสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี แล้วสิ่งที่เรียกว่าสงบคือพระนิพพาน พระนิพพานคือสุดยอดของความสงบ ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่มีความสุข อย่าทำตัวเหมือนหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนอยู่ตรงนี้ก็คัน ต้องวิ่งไปอยู่ที่อื่น แล้วก็ประเดี๋ยวก็คันอีกก็วิ่งอีก การที่เราต้องวิ่งพล่านๆ เที่ยวหาความสุขจากโลกภายนอก มันคือกิริยาอาการแบบเดียวกับหมาขี้เรื้อนนั่นล่ะ คนในโลกไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระธรรม เขายังจำเป็นต้องวิ่งพล่านไป เพราะคิดว่านั่นดีที่สุดสำหรับเขาแล้ว เราก็อย่าว่าเขา เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้นล่ะ พวกเราสะสมบุญบารมี เราได้ฟังธรรม เราได้ลงมือปฏิบัติธรรม เราได้เข้าใจธรรมะ ชีวิตเราก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงมากขึ้นๆ

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

ธรรมะคือความจริง

ธรรมะคือความจริง ความจริงขั้นที่หนึ่งก็คือ ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของเรา อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับทั้งสิ้น ความจริงระดับกลางก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ความจริงขั้นสูงก็คือ จิตใจนั่นล่ะมีแต่ทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ตรงที่เห็นทุกข์เรียกว่าเรารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ ความยึดถือในกายในใจก็ไม่มี ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ก็ไม่มี นี่รู้ทุกข์ก็ละความอยากได้ เรียกรู้ทุกข์แล้วละสมุทัยได้

Page 1 of 7
1 2 3 4 5 6 7