อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล

พวกเราต้องไปทำเอาเอง ต่อไปหลวงพ่อคงจะไม่จ้ำจี้จำไชพวกเรามากเกินไปแล้ว ที่ผ่านมาหลวงพ่ออยากให้พวกเราภาวนาเก่ง ภาวนาดี ไม่เถลไถล หลวงพ่อเข้าไปควบคุมเยอะ เมื่อคืนวันพฤหัสนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ ท่านบอกให้หลวงพ่ออุเบกขาได้แล้ว กรรมใคร กรรมมัน ถ้าหลวงพ่อไปจู้จี้กับพวกเรา อยากให้พวกเราดี อยากให้ได้ธรรมะอะไรอย่างนี้ จู้จี้มากไป บางคนเข้าใจก็ดี บางคนไม่เข้าใจ โกรธ บาปกรรมเปล่าๆ ท่านว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ดูแลตัวเองให้ดีหน่อย คนไหนใจเปิดรับธรรมะ ก็ไม่ยากอะไรหรอก ถ้าใจไม่รับก็ปล่อยแล้วนะ ปล่อยแล้ว แบกพวกเราไม่ไหวแล้ว ชรามากแล้ว ถ้าเป็นฆราวาสนี้เกษียณไปนานแล้ว ช่วยตัวเองให้ได้ เดินด้วยตัวเองให้ได้ อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล ยังเดินไม่ได้ ยังยืนไม่ได้ คลาน คลานไป แล้ววันหนึ่งต้องยืนขึ้นให้ได้ ยืนแล้วต้องเดินให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์ คอยประคับประคองอีกต่อไป ต้องช่วยตัวเองให้ได้

แก้ปัญหาที่สาเหตุ

ปัญหาทางโลกๆ มีปัญหาก็แก้ไป ใช้สติ ใช้ปัญญา ไม่ใช่ใช้ความอยาก อย่างเราค้าขายไม่ดี เคยขายดีแล้วก็ขายไม่ดีขึ้นมา เราก็ต้องใช้เหตุผลไปดูว่าทำไมคนไม่เข้าร้านเรา แต่เดิมเข้า มันอาจจะมีร้านอื่นที่น่าสนใจกว่า คนก็ไป นี่คือปัญหา ไปดูว่าปัญหามีสาเหตุที่ไหนก็ไปแก้ที่นั้น เราก็จะแก้ป้ญหาทางโลกได้ ส่วนทางจิตใจเรา ตัวทุกข์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของเรา เราก็ดูอะไรเป็นเหตุของทุกข์ ก็คือตัวตัณหา ตัวความอยาก ถ้าเรารู้ทัน ความอยากดับ ความทุกข์มันก็ดับ

เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเกิดขึ้น จะปัญหาในจิตใจเราเอง หรือปัญหาข้างนอกก็ตาม ปัญหาในชีวิตก็ตาม เวลาแก้ปัญหา ให้ไปพิจารณาให้ดี สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหนแก้ที่นั่น แก้ที่ตัวสาเหตุ

อนัตตลักขณสูตร

ที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ ไม่ใช่โมเมพูด มันก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตร สูตรที่สอง ต่อจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ขึ้นมาสู่ อนัตตลักขณสูตร สอนถึงความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันเป็นของที่ไม่ควรยึดควรถือ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมันทุกข์ สิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านรู้แจ่มแจ้งด้วยจิตใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้ด้วยการฟังแล้วก็คิดเอา แต่ท่านเห็นความจริงเอา ของขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็หมดความยึดถือในขันธ์ทั้ง 5

แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

เราต้องสู้กับตัณหาให้ได้

งานหลักของเราต้องสู้กับตัณหาให้ได้ มันเป็นเจ้านายบังคับบงการจิตใจ จิตใจก็ไปบังคับร่างกายให้พูดชั่ว ให้ทำชั่ว ให้เลี้ยงชีวิตชั่วต่อไปอีก มันมาจากความคิดชั่ว กิเลส ตัณหาทั้งหลาย มันซ่อนอยู่ข้างหลัง พอเรารู้ทัน มันจะทำงานไม่สำเร็จ กิเลส ตัณหาอะไรที่มีอยู่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลง กุศลก็จะค่อยเจริญขึ้นๆ สติก็จะดีขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะดีขึ้น พอจิตเราตั้งมั่น มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำให้มากเลย ต่อไปสัมมาวิมุตติมันก็จะเกิด

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

ความอยากเป็นเจ้านายตัวร้ายกาจ

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของตัณหามาแต่ไหนแต่ไร คือตกเป็นทาสความอยาก แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น บางคนถึงขนาดอหังการ บอกว่าฉันนี่ไม่มีใครมาสั่งฉันได้เลย ฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีอำนาจในตัวเอง มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือฉันได้หรอก ในมุมมองของนักปฏิบัติ สิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของคนทั้งหลายคือตัวตัณหา มันสั่งเราตลอดเวลา เราสังเกตตัวเองเรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตัณหามันสร้างขึ้นมาคือทุกข์นั่นเอง ความอยาก ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ยิ่งความอยากรุนแรง โอกาสที่ความทุกข์จะรุนแรงก็มาก ความอยากรุนแรงก็ดิ้นๆๆ อย่างแรง ถ้าความอยากเบาบาง โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ มันก็เบาบางลง ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ ตัณหาทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ แต่ทางร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันเป็นวิบาก แก้ไม่ได้แล้ว มันมีร่างกายอยู่ ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้แก้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องแก่ อย่างไรก็ต้องเจ็บ อย่างไรก็ต้องตาย การที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คอยมาดูกายมาดูใจบ่อยๆ เพื่อให้จิตมันยอมรับความจริงของกายของใจได้ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด

ดับทุกข์ที่ตัวเหตุ

ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า

ธรรมะช่วยเราได้

คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักธรรมะ คิดว่าเข้าวัดต้องไปไหว้โน้นไหว้นี้ เพราะชีวิตมันไม่มีที่พึ่ง แต่พวกเรามีโอกาสได้เรียนธรรมะแล้ว เรารู้วิธีที่จะฝึกจิตตัวเอง เราสามารถอยู่กับโลกได้โดยมีความทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงขั้นอยู่กับโลกแล้วไม่ทุกข์เลยหรอก ถ้าภาวนาจริงจังอันนั้น จิตพ้นโลกไปแล้ว ถึงจะพ้นทุกข์จริงๆ มาหัดภาวนา ภาวนาปฏิบัติ เจริญสติ รักษาศีล สร้างสมาธิ เจริญปัญญาไป เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งจะพบความแตกต่างๆ เราจะรู้สึกเลยว่าคนในโลกน่าสงสาร คนในโลกมันอยู่ในความมืดบอด เราไม่ได้ดูถูกเขา แต่ใจมันสงสาร แล้วก็นึกเมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ดีว่าเราได้พบธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ลงมือปฏิบัติ เราก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ อันนี้เราจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เราเคยทุกข์นานๆ ก็ทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักๆ ก็ทุกข์เบาๆ ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ใจมันเปลี่ยน ซึ่งเรารู้ได้ด้วยตัวเอง มันเห็นด้วยตัวเองได้

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ในเรื่องของอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ บอกอริยสัจเทียบเหมือนรอยเท้าช้าง ยุคนั้นไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ช้างใหญ่ที่สุด ท่านบอกรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย มันไปบรรจุอยู่ในรอยเท้าช้างได้ เล็กกว่ารอยเท้าช้าง ธรรมะทั้งหมดก็ประมวลลงอยู่ในอริยสัจได้ เจ้าชายสิทธัตถะท่านสาวลงมาจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านก็รู้เลย โอ้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย ความเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านค้นพบในตอนใกล้ๆ สว่างแล้ว ท่านค้นพบแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา

Page 3 of 4
1 2 3 4