หัวใจของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็กระทบอารมณ์ไปตามธรรมดา แต่กระทบแล้วเกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง ให้มีสติรู้ หัวใจหรือเคล็ดลับของการเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่อ่านใจตัวเองไป ไม่ได้อยู่ตรงที่บังคับตัวเอง ไม่ให้ดูรูป ไม่ให้ฟังเสียง ไม่ให้ได้กลิ่น ไม่ให้ได้รส ไม่ต้องหนี กระทบอารมณ์ไปตามธรรมชาติ แต่กระทบแล้วใจเรามีความเปลี่ยนแปลง เกิดสุขให้รู้เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลอกุศลให้รู้ไป ไม่นานปัญญาจะเกิด ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา เกิดแล้วดับทั้งสิ้น

เป็นพวกโทสจริตแต่ต้องมาขายของ ทั้งวันจิตอยู่แต่ในกลุ่มโทสะ จิตไม่ชอบ ไม่เป็นกลางแต่ก็อดทน

คำถาม: เป็นพวกโทสจริตแต่ต้องมาขายของ ทั้งวันจิตอยู่แต่ใ …

Read more

หัดสังเกตใจตัวเอง

ต้องสำรวจใจของเราเองบ่อยๆ ถ้าเราอ่านใจตัวเองออก สังเกตบ่อยๆ แล้วสติ สมาธิ ปัญญาของเราจะดีขึ้น หัดอ่านใจตัวเองไว้ ใจเราขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ต้องสนใจที่อื่นหรอก สนใจใจของเราเอง ถ้าเราคอยสังเกตใจของเรา ใจเป็นอกุศลก็รู้ ใจเป็นกุศลก็รู้ สังเกตไปเรื่อยๆ มันโลภขึ้นมาก็รู้ มันโกรธขึ้นมาก็รู้ มันหลงขึ้นมาก็รู้ รับรองว่าพัฒนาแน่นอน ถ้าสังเกตอย่างนี้ เพราะการที่เราคอยสังเกตจิตใจของเราเองว่ามีอกุศลไหม เป็นกุศลหรือยัง คอยสังเกตไป มันคือการเจริญสัมมาวายามะ ถ้าสัมมาวายามะเราทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก ก็จะทำให้การเจริญปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา มีสัมมาญาณะ มีสัมมาวิมุตติ เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา

ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว

วิธีทดสอบเมื่อคิดว่าได้มรรคผล

ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก
มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรองได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

ใจที่อยากพ้นโลกจะมีความพากเพียร

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัด วัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว

จิตคือละครโรงใหญ่

เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก เวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่ เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา