บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

ผู้รู้นี้เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึงเป็นจิตที่เราพัฒนามันขึ้นมา เอามาใช้งาน ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวาง เราก็จะไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วสูงสุดของผู้ปฏิบัติ ถ้ายังไม่วางจิต ก็จะไปเป็นพรหม หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า ท่านพิจารณาแล้วนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ภาษาท่าน ผีใหญ่คือเป็นพรหม ภาวนาแล้วก็ไปเป็นพระพรหมกัน ต้องเดินปัญญาให้ถ่องแท้ ถึงจะเอาตัวรอดได้ บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง

จิตเกิดดับหมุนเวียน

จิตก็เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นวิญญาณธาตุ ก็เกิดดับหมุนเวียนไป จิตดวงใหม่ก็ไม่ใช่ดวงเดิม อย่างพวกคนจำนวนมากก็คิดว่าพวกเรามีจิตวิญญาณอยู่ พอเราตายแล้วจิตใจของเราดวงนี้ ออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าจิตนี่เที่ยงจิตเป็นอมตะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้หรือกว่าจิตเองเกิดดับตลอดเวลา ถ้าเราภาวนายังไม่ละเอียดพอ เราก็เห็นว่าจิตมีดวงเดียว จิตอยู่กับตัวเรา เดี๋ยวก็วิ่งไปที่ตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่หูแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมา เราคิดว่าจิตมีดวงเดียว อันนี้เพราะสติปัญญาของเรายังไม่แก่กล้าพอ ต้องฝึกอีก ถ้าฝึกแล้วเราจะเห็นเลย จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น จิตนั้นเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

ทำสมถะเพื่อให้จิตมีแรงและตั้งมั่น

เราก็ต้องรู้ว่า เราจะทำสมาธิเพื่ออะไร ทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้มีแรง เพื่อให้จิตตั้งมั่น ตอนไหนจิตไม่มีแรง น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญที่ตัวอารมณ์ จิตก็จะมีกำลัง เพราะจิตไม่ได้วิ่งวอกแวก ไปที่อารมณ์โน้นทีอารมณ์นี้ที เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน จิตก็เลยมีแรง วิธีทำให้จิตตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ได้น้อมจิตไปหาลมหายใจ ไม่ได้น้อมจิตไปที่พุทโธ แต่รู้ทันจิต ฉะนั้นสมาธิ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกที่ทำเพื่อความสงบนั้น ตัวอารมณ์เป็นพระเอก อย่างที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวจิตเป็นพระเอก 2 อันนี้จะแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา

จุดสำคัญก็คือ เราจะต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย ก็จะเห็นว่าร่างกายถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศล อย่างโลภโกรธหลง มันก็จะเห็น กุศลอกุศลโลภโกรธหลงอะไรไม่ใช่ตัวเรา นี่เราฝึกมากเข้ามากเข้า เราก็จะเห็นว่าบางครั้งจิตก็เป็นผู้รู้ บางครั้งจิตก็เป็นผู้หลง จิตที่เป็นผู้รู้มันก็ถูกรู้ จิตที่เป็นผู้หลงมันก็ถูกรู้ สุดท้ายกระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

ทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้

การปฏิบัติ จิตจะต้องมีเครื่องอยู่ ถ้าจิตไม่มีเครื่องอยู่ จิตก็ร่อนเร่ไป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในขั้นไหนก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ อย่าว่าแต่พวกเราเลย กระทั่งพระอรหันต์ ท่านก็ยังมีการเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ ใช้กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ใจมีบ้านอยู่ แต่พวกเราต่างกับพระอรหันต์ ตรงที่ เรายังยึดถือกายใจขันธ์ 5 อยู่ เราเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ถูกเข้าใจถูก แล้วปล่อยวาง ในขณะที่พระอรหันต์ท่านมีกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องอยู่ แล้วจิตท่านพรากออกไป แยกออกไปจากขันธ์ ไม่เกาะเกี่ยว มองเห็นขันธ์เป็นความว่าง ในขณะที่พวกเรามองเห็นขันธ์เป็นตัวเรา ปุถุชน เพราะฉะนั้นจะทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้ สังเกตตัวเอง อยู่กับเครื่องอยู่ชนิดไหนแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้นล่ะดี

ป่วยหนักมานาน มีเวทนาทางกายแรงหลายครั้ง ทำให้เคว้งดูอะไรไม่ได้ ขอสอบถามว่าเมื่อมีความเจ็บปวด มีเวทนาทางกายแรงเกินกว่ากำลังสติ ควรวางใจอย่างไร

คำถาม: ทำอานาปานสติในอิริยาบทนั่ง เดินจงกรมรู้เท้ากระทบ …

Read more

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

รู้แจ้งในกองทุกข์จึงสิ้นตัณหา

ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ เรียกว่าเห็นทุกขสัจ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค

รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ความรู้สึกเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

Page 1 of 3
1 2 3