ฆราวาสมีหน้าที่ทั้งทางโลกทางธรรม

เรายังเกิดมาได้ทันที่พระสัจธรรมยังดำรงอยู่ ขวนขวายพากเพียรปฏิบัติเข้า เป็นฆราวาสหน้าที่ทางโลกต้องทำ หน้าที่ทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชาติบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ต่อตนเอง คือการปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางโลกเราก็ต้องทำ ทางธรรมเราก็ต้องทำ พยายามฝึกตัวเองไป ชีวิตเราก็จะสะอาดหมดจด ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยปัญญา พอปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มันจะทำลายกิเลสอย่างละเอียด

ที่พักของจิต

พวกเราควรจะมีที่พักของจิต มีบ้านให้จิตพักผ่อนบ้าง เวลาเราทำงานตรากตรำมาก เรายังต้องกลับมาบ้าน ไม่มีบ้าน เราก็มีห้องเช่า เราไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไม่มีจริงๆ เราก็อยู่ใต้ต้นไม้ มันก็ต้องมีที่อยู่ พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป ถ้าเป็นร่างกาย เราเหน็ดเหนื่อย เราก็พักผ่อน มีแรงแล้วเราก็พร้อมที่จะไปทำงานต่อ ส่วนจิตใจ งานของจิตใจของเราคือกรรมฐานทั้งหลาย

ให้จิตเราได้มีที่พักบ้าง มิฉะนั้นเราโหดร้ายกับจิตตัวเอง เคี่ยวเข็ญมันมากไปจนมันไม่เคยมีความสงบเลย เหมือนเรามีทาสอยู่คนหนึ่ง เราก็ใช้มันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้มันพักเลย ไม่นานมันก็ตาย จิตนี้เราใช้งานมันตลอดเวลา ใช้คิด ใช้นึก ใช้ปรุง ใช้แต่ง แล้วมันก็ปนเปื้อน กระทบฝุ่นละออง คือกิเลส มอมแมมทั้งวัน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ แล้วมันก็เสียธรรมชาติเดิมของมันที่มันประภัสสร ธรรมชาติเดิมของจิตประภัสสร ผ่องใส ฉะนั้นการที่เราทำสมาธิ เพื่อให้จิตมันรวมเข้ามาสงบ ประภัสสร แล้วถัดจากนั้นจิตเรามีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ

ความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการปฏิบัติ พวกเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ หลุดออกจากโลกของความฝัน มาอยู่ในโลกของความจริงให้ได้ มีกายก็ให้รู้สึกว่ามันมีร่างกาย มีจิตใจก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ไม่ใช่มีกายก็ลืม มีใจก็ลืม คิดฝันเพ้อเจ้อตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้ เราก็จะสามารถเรียนรู้ ความจริงของร่างกายของจิตใจได้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา

จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

แก่นของการปฏิบัติคือจิต

แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น นั้นไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา

จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

ยังพอใจไม่พอใจกับสภาวะที่เกิด ระหว่างวันรู้ร่างกายเคลื่อนไหว เห็นความหงุดหงิด กังวลกับสิ่งที่มากระทบ ไม่แน่ใจว่าแยกขันธ์ได้ไหม

คำถาม: ทำในรูปแบบทุกวัน รู้ร่างกายหายใจ ตรงจมูกบ้าง ท้อ …

Read more

Page 2 of 3
1 2 3