ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย

หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา

แม่บทใหญ่ของการปฏิบัติ

แนวทางของอริยสัจเป็นแนวทางที่เป็นแม่บท ถ้าการปฏิบัติเราพลาดจากหลักอริยสัจ ผิดแน่นอน หลักของอริยสัจก็คือ ทุกข์ก็ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้าหลุดออกจากหลักนี้ก็ผิด ถ้าทำตามหลักนี้ได้ มันก็จะเข้าไปสู่องค์ธรรม 12 ตัว

อะไรคือทุกข์ รู้ว่าทุกข์คืออะไร คือรูป คือนาม รู้หน้าที่ต่อทุกข์ว่าต้องรู้รูปรู้นาม หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ แล้วได้รู้แล้ว 3 ข้อ สมุทัยคือตัวเหตุของทุกข์ ได้แก่ตัณหา หน้าที่ต่อตัณหาคือละเสีย แล้วก็ได้ละแล้ว นิโรธ คือความดับสนิทแห่งทุกข์ หน้าที่ต่อนิโรธไม่ได้ทำนิโรธให้เกิดขึ้น แต่ว่าเข้าไปเห็นนิโรธ เขาเรียกสัจฉิกิริยา เข้าไปประจักษ์เข้าไปเห็นแจ่มแจ้งในความจริงของความพ้นทุกข์ คือไปเห็นพระนิพพานนั้นเอง ฉะนั้นหน้าที่ต่อนิโรธคือการเห็น ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้เห็นแล้ว

เห็นตัวเองมีกามราคะมาก จึงรักษาพรหมจรรย์อีก 1 ข้อ ขณะที่เห็นจิตเกิดราคะ โกรธหลง มันจะค่อยๆ หายไป

คำถาม: รักษาศีล 5 เห็นตัวเองมีกามราคะมาก จึงรักษาพรหมจร …

Read more

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญา แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา

บวชใจให้ได้

ถ้าเราไม่มีโอกาสจะบวช อาจจะเพราะว่าไม่พร้อมที่จะบวช มีภารกิจทางโลก ยังบวชไม่ได้ หรือไม่มีภารกิจ แต่ยังหาที่บวชด้วยความเต็มใจไม่ได้ ไม่สบายใจที่จะบวช หาไม่ได้ทำอย่างไร อย่างผู้หญิงจะไปบวชภิกษุณี มันก็ไม่มีจริง ไปบวชชีแต่ละวัด เขาก็ขยาด หาที่อยู่ยาก มันมีเงื่อนไขที่เราบวชไม่ได้ เราฝึกตัวเอง บวชใจเราให้ได้ ตั้งใจรักษาศีล ศีล 5 ศีล 8 ถือเข้าไปเถอะ เท่าที่ทำได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น อย่างบางคนสุขภาพไม่อำนวย ถือศีล 8 อดข้าวเย็น แล้วทำงานหนักทั้งวันเลย ตกเย็นไม่กินข้าวอีก ไม่นานโรคกระเพาะก็ถามหา ฉะนั้นดูสภาพเราที่ทำได้จริงๆ ทำแล้วไม่เข้าข่ายอัตกิลมถาลิกานุโยค ทรมานตัวเอง แต่ไม่ใช่ปรนเปรอตัวเองตามใจชอบ มีวินัยในตัวเอง อยู่บ้านก็ภาวนาของเราไป ฆราวาสก็ทำมรรคผลได้

การปฏิบัติธรรมคือการลงทุนกับชีวิต

อยู่กับโลกเราก็ลงทุนทำมาหากินทำธุรกิจ หวังว่าจะมีอยู่มีกินจะมีความสุข แต่ความสุขในโลกมันไม่ยั่งยืน อย่างพวกเราหาทรัพย์สมบัติหาอะไรไว้มากมาย ในเวลาไม่กี่สิบปีมันก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป ชีวิตของคนเรามันเหมือนฝัน เมื่อตื่นขึ้นมาทุกอย่างในความฝันมันก็หายไปหมด ธรรมะนี้ให้ประโยชน์ ให้ความสุขกับเรามากที่สุด ก็เป็นความยั่งยืนในชีวิตเรา ถ้าเราลงมือปฏิบัติแล้วอยู่กับเราตลอดชีวิต ตายไปไปเกิดอีกเราก็ภาวนาง่าย พอเราลงมือทำลงมือปฏิบัติ ทำทาน รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญาให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ เมื่อเราเข้าใจความจริงของกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย ถ้าเราเข้าใจความจริงของจิตใจ เราจะไม่ทุกข์เพราะจิตใจอีกต่อไป