จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

แก้ปัญหาที่สาเหตุ

ปัญหาทางโลกๆ มีปัญหาก็แก้ไป ใช้สติ ใช้ปัญญา ไม่ใช่ใช้ความอยาก อย่างเราค้าขายไม่ดี เคยขายดีแล้วก็ขายไม่ดีขึ้นมา เราก็ต้องใช้เหตุผลไปดูว่าทำไมคนไม่เข้าร้านเรา แต่เดิมเข้า มันอาจจะมีร้านอื่นที่น่าสนใจกว่า คนก็ไป นี่คือปัญหา ไปดูว่าปัญหามีสาเหตุที่ไหนก็ไปแก้ที่นั้น เราก็จะแก้ป้ญหาทางโลกได้ ส่วนทางจิตใจเรา ตัวทุกข์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของเรา เราก็ดูอะไรเป็นเหตุของทุกข์ ก็คือตัวตัณหา ตัวความอยาก ถ้าเรารู้ทัน ความอยากดับ ความทุกข์มันก็ดับ

เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเกิดขึ้น จะปัญหาในจิตใจเราเอง หรือปัญหาข้างนอกก็ตาม ปัญหาในชีวิตก็ตาม เวลาแก้ปัญหา ให้ไปพิจารณาให้ดี สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหนแก้ที่นั่น แก้ที่ตัวสาเหตุ

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

เราต้องสู้กับตัณหาให้ได้

งานหลักของเราต้องสู้กับตัณหาให้ได้ มันเป็นเจ้านายบังคับบงการจิตใจ จิตใจก็ไปบังคับร่างกายให้พูดชั่ว ให้ทำชั่ว ให้เลี้ยงชีวิตชั่วต่อไปอีก มันมาจากความคิดชั่ว กิเลส ตัณหาทั้งหลาย มันซ่อนอยู่ข้างหลัง พอเรารู้ทัน มันจะทำงานไม่สำเร็จ กิเลส ตัณหาอะไรที่มีอยู่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลง กุศลก็จะค่อยเจริญขึ้นๆ สติก็จะดีขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะดีขึ้น พอจิตเราตั้งมั่น มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำให้มากเลย ต่อไปสัมมาวิมุตติมันก็จะเกิด

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

อดทนให้เด็ดเดี่ยวลงไป

เรียนธรรมะต้องสู้ ต้องอดทน ต้องเด็ดเดี่ยว ทนอะไรบ้าง อันแรกเลยทนต่อการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ บางทีสิ่งที่ท่านสอนมันกระเทือนกิเลสเรา มันทรมานใจของเรา สิ่งที่ท่านบอกแต่ละอย่าง คือท่านไม่มาประคบประหงมเชียร์ไปเรื่อยๆ ให้เราสบายใจ อย่างนั้นไม่ใช่ ครูบาอาจารย์จริงๆ จะขัดเรา ถ้ากิเลสเราหยาบหนามาก ก็ลงตะไบ รู้จักตะไบไหม อย่างนี้ หรือถ้าหนากว่านั้นก็เอาขวานถากๆ มันหนามาก พอภาวนาไปเรื่อย จิตใจละเอียดประณีต ครูบาอาจารย์ก็เอาตะไบ เอากระดาษทรายแต่งนิดๆ หน่อยๆ แต่งๆ นิดหนึ่ง ตรงนี้นิดหนึ่งๆ มันอยู่ที่เรานั่นล่ะจะได้ธรรมะระดับไหน อยู่ที่ตัวเราเอง แต่ว่าสิ่งที่ได้จากครูบาอาจารย์มีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ อย่ามัวแต่น้อยอกน้อยใจ มาขอกำลังใจขออะไร เสียเวลา หลวงพ่อไม่ชอบคนขี้อ้อน เพราะหลวงพ่อไม่เคยอ้อนครูบาอาจารย์ มีแต่สู้เอา ฉะนั้นเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็ต้องต่อสู้ ความอ่อนแอท้อถอยอะไร ไม่มีใครห้ามได้หรอกถ้ามันจะท้อ แต่ท้อแล้วก็ไม่เลิก สู้มัน ขี้เกียจก็ได้ แต่ขี้เกียจแล้วก็สู้มัน ไม่มาคร่ำครวญ

ความอยากเป็นเจ้านายตัวร้ายกาจ

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของตัณหามาแต่ไหนแต่ไร คือตกเป็นทาสความอยาก แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น บางคนถึงขนาดอหังการ บอกว่าฉันนี่ไม่มีใครมาสั่งฉันได้เลย ฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีอำนาจในตัวเอง มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือฉันได้หรอก ในมุมมองของนักปฏิบัติ สิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของคนทั้งหลายคือตัวตัณหา มันสั่งเราตลอดเวลา เราสังเกตตัวเองเรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตัณหามันสร้างขึ้นมาคือทุกข์นั่นเอง ความอยาก ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ยิ่งความอยากรุนแรง โอกาสที่ความทุกข์จะรุนแรงก็มาก ความอยากรุนแรงก็ดิ้นๆๆ อย่างแรง ถ้าความอยากเบาบาง โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ มันก็เบาบางลง ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ ตัณหาทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ แต่ทางร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันเป็นวิบาก แก้ไม่ได้แล้ว มันมีร่างกายอยู่ ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้แก้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องแก่ อย่างไรก็ต้องเจ็บ อย่างไรก็ต้องตาย การที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คอยมาดูกายมาดูใจบ่อยๆ เพื่อให้จิตมันยอมรับความจริงของกายของใจได้ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด

ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ธรรมะช่วยเราได้

คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักธรรมะ คิดว่าเข้าวัดต้องไปไหว้โน้นไหว้นี้ เพราะชีวิตมันไม่มีที่พึ่ง แต่พวกเรามีโอกาสได้เรียนธรรมะแล้ว เรารู้วิธีที่จะฝึกจิตตัวเอง เราสามารถอยู่กับโลกได้โดยมีความทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงขั้นอยู่กับโลกแล้วไม่ทุกข์เลยหรอก ถ้าภาวนาจริงจังอันนั้น จิตพ้นโลกไปแล้ว ถึงจะพ้นทุกข์จริงๆ มาหัดภาวนา ภาวนาปฏิบัติ เจริญสติ รักษาศีล สร้างสมาธิ เจริญปัญญาไป เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งจะพบความแตกต่างๆ เราจะรู้สึกเลยว่าคนในโลกน่าสงสาร คนในโลกมันอยู่ในความมืดบอด เราไม่ได้ดูถูกเขา แต่ใจมันสงสาร แล้วก็นึกเมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ดีว่าเราได้พบธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ลงมือปฏิบัติ เราก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ อันนี้เราจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เราเคยทุกข์นานๆ ก็ทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักๆ ก็ทุกข์เบาๆ ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ใจมันเปลี่ยน ซึ่งเรารู้ได้ด้วยตัวเอง มันเห็นด้วยตัวเองได้

Page 2 of 3
1 2 3