ทาน ศีล ภาวนาเพื่อพัฒนาจิต

เวลาเราทำทานเรามีความสุข จิตใจที่รู้จักให้มันจะพัฒนา อันแรกเลยมันลดความเห็นแก่ตัว อันที่สอง ใจที่รู้จักเกื้อกูลมันจะอ่อนโยน สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนสุดท้ายมันก็มาลงที่การพัฒนาใจทั้งนั้น เรานึกว่าทำทานไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่แท้การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน ต่อมาเราก็ฝึกให้เข้มข้นขึ้น รักษาศีล การรักษาศีลจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง กิเลสมันจะพาเราผิดศีลตลอดเวลา เราก็พยายามรักษาศีลไว้ ไม่ตามใจกิเลสที่จะทำผิดศีล ศีลเป็นการฝึกลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหมว่าทานก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ถัดไปที่ฆราวาสต้องเรียนนั้นคือภาวนา การภาวนามันมี 2 อันคือสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา มันอยู่ที่ว่าฆราวาสจะเอาแค่ไหน ฆราวาสพอใจที่จะภาวนาให้สงบ ให้จิตมีกำลังเพื่อจะไปสู้กับโลกก็ฝึกไป เป็นสมถภาวนา อีกอันหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา ก็มีหลัก มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เมื่อรู้หลักแล้วก็เดินเอา ช่วยตัวเองพยายามพัฒนาตัวเองไป ฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา สุดท้ายมันก็ลดละอกุศลลงไป แล้วก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อม

เป้าหมายสูงสุดคือความดับทุกข์

เราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าเราต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ต้องชัดเจน ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขาอยากปฏิบัติก็อยากปฏิบัติตามเขาอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้เรื่องหรอก เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติธรรม วัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเราให้ได้ จุดหมายสูงสุดก็คือความดับทุกข์ มี 2 ตัว ความดับทุกข์อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุด เป้าหมายของเราอันแรกเลยก็คือต้องพ้นทุกข์ก่อน

กรรมฐานในยุควุ่นวาย

ยุคนี้คือยุควุ่นวายไม่ใช่ยุควิเวก เมื่อมันวุ่นวายเราก็ต้องดูกรรมฐานที่มันทำได้ เราไม่ต้องไปฝันหรอกเรื่องจะเข้าฌานได้ กรรมฐานที่เหมาะกับพวกฟุ้งซ่าน พวกคิดมาก คือสังเกตจิตใจของเราไป ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ดูได้ทั้งวันยิ่งดี ตั้งแต่ตื่นนอนแล้วดูไปเรื่อยๆ เลย เฝ้ารู้เฝ้าดูจนเราเห็นความจริง ความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจไป ดูมันไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็จะเห็นว่า อารมณ์ตัวที่หนึ่งเกิดแล้วก็ดับ ตัวที่สองเกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันจะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด มันจะรู้ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ทุกตัวที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น

ทางใครทางมัน

เราเจริญปัญญา สติระลึกรู้กายบ่อยๆ ก็ใช้กายานุปัสสนาเป็นหลัก สติชอบระลึกรู้เวทนาเป็นหลัก เราก็ใช้เวทนานุปัสสนาเป็นหลัก สติชอบระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล เราก็ใช้จิตตานุปัสสนาเป็นหลัก
เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ทางใครทางมัน ไม่มีทางไหนวิเศษกว่าทางไหนทั้งสิ้นหรอก ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจะรู้เลย มันมาได้ทุกทาง เพราะทุกทางนั้นพระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้น ไม่ใช่มีทางเดียว ต้องอย่างนี้แล้วต้องไปอย่างนี้ หลักสูตรตายตัวไม่มีหรอก

ภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

วันๆ หนึ่งเอาเวลาไปทิ้งเยอะแยะเลย แล้วบอกภาวนามาหลายปีแล้วไม่ได้ผล จริงๆ ภาวนาน้อยมากเลย ถ้าเราแทรกการปฏิบัติเข้าไปในการดำรงชีวิตได้ การภาวนาของเราเยอะแยะเลยวันๆ หนึ่ง คำว่าไม่มีเวลาภาวนาจะไม่มีหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “ถ้ามีเวลาหายใจ ก็มีเวลาปฏิบัติ” ถ้าไม่ได้หายใจแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติ ที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัตินั่นมันข้ออ้าง ถ้าเรารวมการปฏิบัติเข้ากับการใช้ชีวิตจริงได้ มีเวลาตลอดเลย

ความสม่ำเสมอสำคัญมาก

เราภาวนาของเราทุกวันๆ สม่ำเสมอ ฝึกมีสติ มีจิตตั้งมั่น สม่ำเสมออยู่ เวลาเราลงมือปฏิบัติ มันจะไม่ต้องเพ่ง ก็ใช้จิตธรรมดาของเรานี้ล่ะ ภาวนาเข้าไปเลย ถ้าเราวันๆ เราปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อย แล้วมาลงมือปฏิบัติค่ำๆ มาลงมือปฏิบัติ อย่างไรก็เพ่ง เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงข้างซ้ายไปแรง เหวี่ยงกลับมาข้างขวามันก็แรงด้วยล่ะ หลงแรงก็เพ่งแรง ในทางกลับกัน เพ่งแรง พอปล่อยออกมาหลงแรง หลงแรงกว่าคนธรรมดาอีก

ความสุขในโลกไม่ยั่งยืน

ความสุขในโลกธรรมดาอย่างที่พวกเรารู้จัก ความสุขจากการดูรูป จากการฟังเสียง จากการดมกลิ่น จากการลิ้มรส จากการสัมผัสทางกาย ความสุขอย่างนี้เร่าร้อนไม่ยั่งยืน ได้มายากเสียไปง่าย รักษาไว้ยาก ความสุขที่สูงขึ้นไป ความสุขในสมาธิได้มาก็ยาก ฝึกกันแรมปีเลยกว่าจะเข้าสมาธิเป็น แล้วก็เสื่อมง่าย สูญเสียง่าย เราเพลินในกามนิดเดียวเท่านั้นเสื่อมหมดเลย ฉะนั้นความสุขของโลก ไม่ว่าจะเป็นกามโลก รูปโลก อรูปโลก ไม่ยั่งยืนหรอก

เวลาภาวนาอย่าใจร้อน

ภาวนา ค่อยๆ เข้าใจไป ทำให้ถูก ไม่ใช่ทำแบบลุกลี้ลุกลน ภาวนาลุกลี้ลุกลนอยากจะได้ผลเร็วๆ มันจะไม่ได้อะไร ความอยากมันทำให้จิตปรุงแต่ง จิตก็ดิ้นรน ความปรุงแต่งของจิตคือภพ มรรค ผล นิพพานมันพ้นจากภพไป เราก็เอาแต่ปรุงแต่ง อยากดีๆ อยากดีจิตก็เลยสร้างภพของคนดี เป็นคนดี เป็นนักปฏิบัติที่ดีอะไรอย่างนี้ มันจอมปลอมทั้งหมดล่ะ ให้รู้ทันเลย ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อย่ารีบร้อน อย่ากระโดด อย่าข้ามขั้น ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้

เมตตาเป็นธรรมสำคัญมาก

เวลามีความเมตตาเกิดขึ้น คนแรกที่ได้รับประโยชน์คือตัวเราเอง ใจที่มีเมตตามันนุ่มนวล อ่อนโยน มันเบาสบาย มันเป็นกุศล ใครเข้าใกล้เราก็พลอยร่มเย็นไปด้วย ถ้าใจเราคิดแต่ประหัตประหาร เบียดเบียน แย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างจากคนอื่น ใครเขาเข้าใกล้เราเขาหวาดผวา หาความสุขไม่ได้ ฉะนั้นเมตตาไม่เพียงแต่ตัวเองได้ประโยชน์ ผู้อื่นคือสัตว์โลกทั้งหลายได้ประโยชน์ด้วย

แก้มิจฉาทิฏฐิด้วยวิปัสสนา

ตัวที่จะช่วยแก้มิจฉาทิฏฐิเราได้มีตัวเดียวเอง คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราจะเห็นรูปธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รูปก็มีเหตุสัมพันธ์สืบเนื่องกันไป อย่างร่างกายเราอาศัยธาตุมาประชุมกัน มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ร่างกายเราก็ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยนไป จากตัวเล็กก็ตัวโตขึ้น โตเต็มที่แล้วก็เริ่มตัวฝ่อลงไป สุดท้ายก็แตกสลาย จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราภาวนาเราก็จะเห็น จิตทุกชนิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

Page 30 of 47
1 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 47