หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

วิธีพ้นจากความปรุงแต่ง

การพัฒนาศีลก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาสมาธิก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาก็คือความปรุงแต่งที่ดี พัฒนาปัญญาเป็นความปรุงแต่งที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่ต้องปรุงแต่ง ถ้าเราไม่ปรุงแต่งศีล สมาธิ ปัญญา จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่ว เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว ฉะนั้นเราพัฒนา ทำไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน

ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น

การภาวนาไม่ยาก

การภาวนาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ที่มันยากก็เพราะพวกเราคิดมากเกินไป เราคิดว่าการปฏิบัติจะต้องทำอย่างนั้นจะต้องทำอย่างนี้ ซึ่งมันเกินความจำเป็น เกินธรรมดา คิดว่าปฏิบัติไปแล้วจะได้อะไร สิ่งที่ได้ต้องวิเศษวิโส ผิดมนุษย์มนาเกินธรรมดา คือมันวาดภาพผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น วิธีปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราไปคิดเอามากมาย ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แล้วก็เริ่มเถียงกัน วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ซึ่งมันไม่มีนัยยะอะไรเท่าไรหรอก อันนี้เป็นวิธีการ เป็นกลยุทธ์ที่แต่ละคนก็เลือกใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะใช้วิธีอะไร หลักปฏิบัติต้องแม่น มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ หลักมันมีเท่านี้ล่ะ กรรมฐานอะไรไม่สำคัญหรอก ทางใครทางมัน ใช้ได้ทั้งหมดล่ะ แต่ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่ได้รู้ทันจิตตัวเอง มันก็ไม่ได้สาระแก่นสาร

อุบายของครูบาอาจารย์

บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนิมิต บางท่านท่านเข้าใจความจริง อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบาย เป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้ เป็นอุบายของท่าน บางองค์ พระพุทธเจ้าท่านบอกตรงไปตรงมาที่สุดเลย แล้วพวกเรารับไม่ค่อยได้ มันไม่เคยรู้จักสิ่งซึ่งเหนือรูปธรรมนามธรรมขึ้นไป พอฟังแล้วมันรับไม่ได้ ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ก็เลยหลอกๆ เอา สร้างอะไรที่ปลุกเร้าให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างทำวัตถุมงคลมาเพื่อให้เรารักษาศีล เพื่อให้เรานั่งสมาธิ แล้วก็สอนโน่นสอนนี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เพื่อเราจะได้ไม่ได้ทำผิดศีล เป็นอุบายมากมาย ถ้าเรามัวแต่ติดอุบาย เราก็ไปไหนไม่ได้หรอก แหวกอุบายไม่ออก ถ้าแหวกออกก็จะเข้าใจร้อง โอ๊ย สติปัญญาครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา สอนคนโง่ๆ อย่างเราให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้

ความอยากเป็นเจ้านายตัวร้ายกาจ

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของตัณหามาแต่ไหนแต่ไร คือตกเป็นทาสความอยาก แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น บางคนถึงขนาดอหังการ บอกว่าฉันนี่ไม่มีใครมาสั่งฉันได้เลย ฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีอำนาจในตัวเอง มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือฉันได้หรอก ในมุมมองของนักปฏิบัติ สิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของคนทั้งหลายคือตัวตัณหา มันสั่งเราตลอดเวลา เราสังเกตตัวเองเรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตัณหามันสร้างขึ้นมาคือทุกข์นั่นเอง ความอยาก ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ยิ่งความอยากรุนแรง โอกาสที่ความทุกข์จะรุนแรงก็มาก ความอยากรุนแรงก็ดิ้นๆๆ อย่างแรง ถ้าความอยากเบาบาง โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ มันก็เบาบางลง ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ ตัณหาทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ แต่ทางร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันเป็นวิบาก แก้ไม่ได้แล้ว มันมีร่างกายอยู่ ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้แก้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องแก่ อย่างไรก็ต้องเจ็บ อย่างไรก็ต้องตาย การที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คอยมาดูกายมาดูใจบ่อยๆ เพื่อให้จิตมันยอมรับความจริงของกายของใจได้ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด

งานพัฒนาจิต

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

Page 22 of 47
1 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 47