รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ

มีร่างกาย มันก็มีภาระ มีผมก็มีภาระ มีขนก็มีภาระ อย่างต้องโกนหนวดโกนเครา โกนขนรักแร้ โกนขนหน้าแข้ง ผิวหนังมีรูพรุนๆ อยู่ทั้งตัวเลย ผิวหนังมีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา สวยแค่ไหน ไม่อาบน้ำสัก 2 – 3 วัน ก็ไม่มีใครเขาเข้าใกล้แล้ว เหงื่อไคลสกปรกโสโครก เป็นขี้กลากขี้เกลื้อนอะไรขึ้นมา ไม่ได้สวยไม่ได้งาม ถ้าเราดูลงไป เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มีร่างกายก็มีภาระอันมากมายเกิดขึ้น ใจมันก็จะค่อยๆ คลายความรัก ความหวงแหนในร่างกายออกไป สุดท้ายมันก็รู้สึกร่างกาย มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก พอเห็นอย่างนี้มันจะค่อยคลายความยึดถือในร่างกายออกไป ถ้าเราดูจิตดูใจเราก็จะเห็น ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิต จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เป็นภาระกับจิตทั้งสิ้น เป็นภาระในการแสวงหาอารมณ์ที่ดี เป็นภาระในการผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นภาระในการรักษาอารมณ์ที่ดีอะไรอย่างนี้ มันมีภาระเกิดขึ้นทั้งหมดเลย ถ้าจิตมันไปหลงในความรู้สึกทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็เป็นภาระของจิต เห็นแล้วก็วางได้

หัวใจของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ รู้ทัน จิตเกิดกุศล เกิดโลภ โกรธ หลง รู้ทัน จิตมีปฏิกิริยายินดี ยินร้าย รู้ทัน สังเกตอย่างนี้ในชีวิตจริงๆ นี่คือหัวใจของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาเราก็นั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม มีเวลาเราก็ทำ ตั้งอกตั้งใจทำทุกวันๆ จิตจะมีพลัง แต่ว่าตัวสำคัญเลยที่จะแตกหักได้จริงๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี่ล่ะ คนส่วนใหญ่มันคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฉะนั้นอยู่ข้างนอกนี่ไม่ปฏิบัติ พวกนี้บอกเลยไม่มีวันบรรลุมรรคผลหรอก ไม่ได้กินหรอก เพราะอะไร ชีวิตส่วนใหญ่เราอยู่ข้างนอกนี้ ชีวิตส่วนใหญ่เราไม่ได้ไปนั่งสมาธิอยู่เสียเมื่อไร

พัฒนาจิตให้เป็นผู้เห็น

เมื่อวานหลวงพ่อบอกเรื่องจะเปิดให้จองเข้ามาฟังธรรม ตั้งแ …

Read more

ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง จิตมันสงบ บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์
ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ
มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน

การพัฒนาองค์มรรค

พัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง

โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

พัฒนาเครื่องมือให้ดี

อันแรกถือศีลไว้ แล้วก็ฝึกสติของเรา คอยระลึกรู้กาย คอยระลึกรู้ใจเนืองๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาระลึก พอมีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติเกิดเอง มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดเอง สติตัวนี้เป็นสัมมาสติแล้ว แล้วจิตมันเคลื่อนไปๆ หลงไปที่อื่น รู้ทัน หลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน หลงไปแสวงหาอารมณ์ว่าจะดูอะไรดี ควานๆๆ รู้ทัน สติรู้ จิตก็เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา

เรียนลงที่กายที่ใจ

เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้ สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์ มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญา แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา

Page 25 of 47
1 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 47