ภาวนาโดยดูร่างกายที่หายใจและใจที่หลงคิด รู้สึกยังไม่ค่อยพัฒนา

ภาวนาที่ปฏิบัติมีสติ มีสมาธิ ลงมือปฏิบัติอะไรนั้นก็ดีทั้งสิ้น ค่อยๆ สะสมไป แต่ว่าเราอย่าโลภ ภาวนาถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องได้อันนั้น จะต้องได้อันนี้ จะต้องได้เมื่อนั้นเมื่อนี้ภาวนาแบบไม่หวังผล ถึงเวลาสงบ ถึงเวลาควรสงบก็ทำความสงบ ถึงเวลาควรเจริญปัญญาดูความจริงของกายของใจ ก็เจริญปัญญาไป ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรเมื่อไร

เป็นคนโกรธง่าย เซลฟ์จัด ขาดความเมตตา ฟุ้งซ่านมาก พยายามรักษาศีลและฝึกตนมา 6 ปีแล้ว ดูเหมือนว่ามันไม่ลดลงกลับจะเพิ่มขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องทำกรรมฐานแบบจะไปดูจิตดูใจอะไรอย่างเดียว รู้สึกร่างกายไว้ ดูไปสิ ร่างกายไม่เคยโกรธเลย ความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แทรกเข้ามา รู้สึกกายบ่อยๆ แล้วจะเห็นร่างกายเป็นวัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธก็ไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธไม่ใช่ร่างกายด้วย ความโกรธไม่ใช่จิตใจด้วย ค่อยๆ แยกๆๆ ไป แล้วก็เจริญเมตตาให้เยอะหน่อย วิธีเจริญเมตตาไม่ใช่นั่งท่อง วิธีเจริญเมตตาก็คือหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างเราโกรธใครเกลียดใคร เราลองสมมติตัวเองว่าถ้าเราเป็นเขา อยู่ในสถานการณ์อย่างเขา ในเงื่อนไข ในข้อจำกัดอย่างเขา เราจะคิดเหมือนเขาไหม บางทีเราคิดเหมือนกัน เราก็จะทำอย่างที่สิ่งที่เราไปว่าคนอื่นเขานั่นล่ะ พอเราเข้าใจ เกิดความเข้าใจแล้ว โทสะมันจะหาย

แนวรุกแนวรับในการภาวนา

การภาวนา ไม่ทำสมถะก็ทำวิปัสสนา มีศิลปะประจำตัว รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา จิตเราเหนื่อยเกินไปก็ไม่ตะบี้ตะบัน ไปนั่งจะให้สงบ มันไม่สงบ หาอะไรที่ผ่อนคลายให้มันเสียหน่อยหนึ่ง ทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ จะมาทำกรรมฐานต่อก็เหนื่อยกาย เหนื่อยใจหนักเข้าไปอีก เวลานี้ควรทำให้จิตใจผ่อนคลายก็ทำ เวลานี้ควรทำสมถะก็ทำ เวลานี้ควรเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา รู้จักแนวรุกแนวรับของเรา

ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติ ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

คำถาม:

หลวงพ่อเคยแก้จิตติดเพ่งให้ แนะนำให้ดูอิริยาบถ และสอนต่อว่าดูกายแล้วจะเห็นจิตเอง ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติมาก เห็นการขยับของกาย เพื่อบรรเทาทุกข์ของตัวมันเอง และทำงานของมันเอง ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ในชีวิตประจำวันเห็นจิตปรุงดีปรุงชั่วได้มากขึ้น เห็นสายเกิดแต่สายดับเห็นไม่ค่อยทัน ในรูปแบบเคยเห็นและพอเข้าใจแล้วว่า จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:
เมื่อกี้แนะไปแล้วไปทำอีก ทำถูกแล้ว สมาธิดีแล้ว ที่เพ่งๆ อะไรไม่ได้เพ่งอย่างแต่ก่อนแล้ว พอสมาธิเราดีดูลงในกายเลย จะเห็นกายกับจิตแยกกันได้ชัดเจนแล้ว ส่วนเรารู้สึกอยู่ร่างกายเคลื่อนไหว จิตรู้สึกอะไรอย่างนี้ เวลามีความรู้สึกอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิต ก็จะเห็นเอง มันจะเห็นขึ้นมาเอง แต่แรกๆ ก็ต้องอารมณ์ที่หยาบหน่อย ความรู้สึกที่แรงหน่อย พอเราชำนิชำนาญขึ้น แค่จิตมันไหวตัวนิดหนึ่งเราก็เห็นแล้ว ยังไม่ทันจะสุข จะทุกข์อะไรเลย แค่มันสะเทือนไหวขึ้นมาก็เห็นแล้ว ที่ทำอยู่ถูกแล้วไปทำต่อไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง

กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ควรจะดูกายหรือดูจิตเป็นหลักไว้ ถ้าเราเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงามอะไรอย่างนี้ ไปดูกายไว้ ถ้าพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น พวกทิฏฐิจริตไปดูจิตไว้เป็นหลักเลย ทุกคนเป็นจริตผสม มีทั้งตัณหาจริตและทิฏฐิจริต ที่จะแบ่งแยกเพียวๆ เลยไม่เคยเจอ เพราะทุกคนมีทั้งตัณหาและทิฏฐิ ดูเอาตัวไหนเด่น บางคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็นมาก พวกนี้ทิฏฐิเด่น บางคนติดสุขติดสบายแล้วก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็นด้วย แต่ระหว่างเอาความสุขความสบายกับเอาความรอบรู้อะไร สนใจความสุขความสบายมากกว่า พวกนี้ไปดูกายเลย

กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น ต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้

ส่งการบ้านหลวงพ่อครั้งก่อนหลวงพ่อเตือนว่า ให้ระวังเรื่องรู้ร่างกายแล้วใจถลำลงไป ตอนนี้กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น เพราะต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้ นานๆ ครั้งถึงจะรู้สึกได้ว่าร่างกายมันโปร่งๆ มีความรู้สึกเฉพาะตรงจุดที่ร่างกายสัมผัสกับลมหายใจ ฝึกแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ:

ฝึกอย่างนี้นานๆ ไป เราก็จะได้สมาธิ คือเป็นเรื่องของการทำสมถะ อย่างทีแรกเรารู้ลงไปในร่างกายทีละส่วนๆ เราก็รู้อยู่ทั้งตัว พอรู้ทั้งตัว เราหายใจไปเรื่อยๆ จิตมันก็จะมารวมอยู่ที่ปลายจมูกนี้ มันรวมอยู่ที่นี่ ดูต่อไปมันจะสว่างว่างขึ้นมา จิตก็ได้เข้าฌาน ได้อะไรไป พอจิตเราเข้าสมาธิพอสมควรแล้ว ให้ออกมาดูร่างกายไว้ ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษอย่างนี้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป อย่างนี้เราก็จะต่อไปได้ เข้าสู่การเจริญปัญญาได้ ต่อไปมันก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายมีแต่ของไม่ดี ของไม่สวย ของไม่งามเต็มไปด้วยของสกปรกอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดู ใจมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากสมาธิก็จะเริ่มค่อยๆ ก้าวไปสู่การเจริญปัญญา

เราก็เห็นร่างกายสกปรกไม่ดี ไม่งาม ใจเราไม่ชอบ เรารู้ทันใจที่ไม่ชอบ เราก็ดูกายต่อไป ต่อไปมันก็พัฒนา แทนที่จะเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เราเห็นว่าจริงๆ มันเป็นแค่วัตถุเท่านั้นเอง เป็นก้อนธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป ไม่มีของสกปรก ไม่มีของสะอาดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุเสมอกันไปหมดเลย ฉะนั้นจะทำสมาธิก่อนแล้วก็เดินไปในแนวนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าสมาธิไม่พอก็ไปดูจิตเอา ก็เห็นเดี๋ยวจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวในทางสายของสมาธิก็ดูลงมาในกายนี้เลย จนเห็นไม่มีตัวเราหรอก แต่ของคุณต้องเริ่มแต่ไม่สวยไม่งามก่อน มันไม่สวย มันไม่งามอะไรอย่างนี้ ใจมันจะมีแรงมากขึ้น แล้วค่อยดู โอ้ มันไม่สวยไม่งาม ทีแรกใจมันรังเกียจ รู้ทันใจที่รังเกียจ ต่อไปใจมันจะเป็นกลาง มันเห็นว่าร่างกายจริงๆ เป็นวัตถุ เป็นวัตถุธาตุเท่านั้นเอง ไม่มีสวย ไม่มีไม่สวย

อย่างดินนี่ไม่มีคำว่าสวย ไม่สวย น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ ไม่มีสวย ไม่สวย มันก็เป็นแค่ธาตุ แล้วถ้าจิตมันพลิกไปเห็นจิตใจทำงาน เราก็รู้ทันจิตใจที่ทำงานไป ถึงเวลาเราก็กลับมาทำสมาธิไป เดินอย่างนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำเอา ถ้าเดินโดยมีสมาธิประกอบ การภาวนามันจะมีความสุข มันจะมีความสดชื่นเป็นระยะๆ

การปฏิบัติมันเหมือนการเดินทางไกล เดินป่าเดินเขาอะไรอย่างนี้ ถ้าเราเข้าฌาน เข้าสมาธิได้ มันก็คล้ายๆ พอตกค่ำ เราก็มีน้ำให้อาบ มีฟูกให้นอน มีห้องแอร์ให้อยู่อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิใช่ไหม เดินไป ภาวนาไป เหน็ดเหนื่อยลำบาก ตกค่ำก็ซุกหัวนอนอยู่ใต้ต้นไม้ไปแบบลำบากแห้งแล้ง บางคนมันก็ต้องไปแบบนั้นยอมทนเอา คนไหนทำฌานได้ ทำสมาธิได้ก็คล้ายๆ มีที่พักที่สบาย การปฏิบัติ ไม่แห้งแล้ง สบาย แต่คนส่วนใหญ่ต้องไปด้วยความแห้งแล้ง เพราะเข้าฌานไม่เป็น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564
Page 2 of 2
1 2