ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย

หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา

เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

หลักสูตรการฝึกสติคือสติปัฏฐาน

หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา 2 อย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ

ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง เราก็ละสมุทัย ละความอยาก เมื่อละความอยากได้ เราก็ละความยึดถือจิตได้ เมื่อเราละความยึดถือจิตได้ ภพคือความดิ้นรนที่จะแสวงหาจิต หรือที่จะปล่อยวางจิต หรือที่จะรักษาจิต มันก็ไม่มี พอเราหมดความยึดถือจิต มันก็ไม่มีการที่จะต้องเที่ยวแสวงหาจิต ไม่มีการรักษาจิต ไม่มีความพยายามจะต้องปล่อยวางจิต เมื่อเราไม่มีความดิ้นรนของจิต คือไม่มีภพ จิตก็จะไม่หยิบฉวยจิตขึ้นมา คือไม่มีชาติ ทันทีที่ไม่มีชาติ ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น สิ้นชาติก็สิ้นทุกข์กันตรงนั้นล่ะ เพราะชาติคือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ใช่ของดีของวิเศษ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือตัวทุกข์ ถ้าเราภาวนาจนเราแจ้งตรงนี้ เรียกว่าเราล้างอวิชชาได้แล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิด

จุดอ่อนของปัญญาชน ก็คือคิดมาก หลายคนหลวงพ่อสอนให้รู้สึกตัว ให้ดูกายดูใจ เขาบอกเขายังดูไม่ได้ ต้องคิดไว้ก่อน เออ ก็คิดไป ชาตินี้คิด ชาติหน้าก็ไปคิดต่อ ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนด้วยการรู้สึก รู้สึกกาย รู้สึกใจ ดูกายหายใจออก หายใจเข้า ก็เห็นร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ไม่ใช่เราหายใจออก ไม่ใช่เราหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เราก็เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องลึกลับ มันเป็นการเปลี่ยนจุดที่มอง แทนที่จะมองออกไปข้างนอก ก็มองย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เรียนรู้อยู่ที่จิตใจตัวเองให้ได้แล้วมันจะไปได้อย่างรวดเร็ว พอเราเรียนรู้ลงที่จิตใจบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความจริง จิตใจนี้มันเป็นไตรลักษณ์ จิตใจมันเป็นไตรลักษณ์ เวลามันมีความสุข มันมีความทุกข์ หรือมันเป็นกุศล หรือมันโลภ โกรธ หลงก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ชั่วคราว ความสุข จิตใจมีความสุข ก็สุขชั่วคราว จิตใจมีความทุกข์ ก็ทุกข์ชั่วคราว จิตใจเป็นกุศล ก็เป็นกุศลชั่วคราว จิตใจโลภ โกรธ หลง ก็โลภ โกรธ หลงชั่วคราว เราเห็น อย่างนี้เรียกว่าเห็นอนิจจัง

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก

ถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์ เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

รู้สึกตัวเองมีโมหะและโทสะมาก มีความตึงเครียดกับปัญหาทางโลก จนทำให้มึนและหนักศีรษะอยู่บ่อยๆ

คำถาม: ปัจจุบันปฏิบัติในรูปแบบช่วงก่อนนอนและระหว่างวัน …

Read more

เห็นจิตตัวผู้รู้ดูกายอยู่ รู้สึกตัวบ่อยมาก แต่ไม่ค่อยเห็นอารมณ์ที่มากระทบเหมือนกับรู้สึกทรงตัวอยู่เฉยๆ

คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …

Read more

Page 1 of 3
1 2 3