การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

อดทนให้เด็ดเดี่ยวลงไป

เรียนธรรมะต้องสู้ ต้องอดทน ต้องเด็ดเดี่ยว ทนอะไรบ้าง อันแรกเลยทนต่อการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ บางทีสิ่งที่ท่านสอนมันกระเทือนกิเลสเรา มันทรมานใจของเรา สิ่งที่ท่านบอกแต่ละอย่าง คือท่านไม่มาประคบประหงมเชียร์ไปเรื่อยๆ ให้เราสบายใจ อย่างนั้นไม่ใช่ ครูบาอาจารย์จริงๆ จะขัดเรา ถ้ากิเลสเราหยาบหนามาก ก็ลงตะไบ รู้จักตะไบไหม อย่างนี้ หรือถ้าหนากว่านั้นก็เอาขวานถากๆ มันหนามาก พอภาวนาไปเรื่อย จิตใจละเอียดประณีต ครูบาอาจารย์ก็เอาตะไบ เอากระดาษทรายแต่งนิดๆ หน่อยๆ แต่งๆ นิดหนึ่ง ตรงนี้นิดหนึ่งๆ มันอยู่ที่เรานั่นล่ะจะได้ธรรมะระดับไหน อยู่ที่ตัวเราเอง แต่ว่าสิ่งที่ได้จากครูบาอาจารย์มีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ อย่ามัวแต่น้อยอกน้อยใจ มาขอกำลังใจขออะไร เสียเวลา หลวงพ่อไม่ชอบคนขี้อ้อน เพราะหลวงพ่อไม่เคยอ้อนครูบาอาจารย์ มีแต่สู้เอา ฉะนั้นเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็ต้องต่อสู้ ความอ่อนแอท้อถอยอะไร ไม่มีใครห้ามได้หรอกถ้ามันจะท้อ แต่ท้อแล้วก็ไม่เลิก สู้มัน ขี้เกียจก็ได้ แต่ขี้เกียจแล้วก็สู้มัน ไม่มาคร่ำครวญ

ความอยากเป็นเจ้านายตัวร้ายกาจ

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของตัณหามาแต่ไหนแต่ไร คือตกเป็นทาสความอยาก แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น บางคนถึงขนาดอหังการ บอกว่าฉันนี่ไม่มีใครมาสั่งฉันได้เลย ฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีอำนาจในตัวเอง มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือฉันได้หรอก ในมุมมองของนักปฏิบัติ สิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของคนทั้งหลายคือตัวตัณหา มันสั่งเราตลอดเวลา เราสังเกตตัวเองเรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตัณหามันสร้างขึ้นมาคือทุกข์นั่นเอง ความอยาก ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ยิ่งความอยากรุนแรง โอกาสที่ความทุกข์จะรุนแรงก็มาก ความอยากรุนแรงก็ดิ้นๆๆ อย่างแรง ถ้าความอยากเบาบาง โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ มันก็เบาบางลง ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ ตัณหาทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ แต่ทางร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันเป็นวิบาก แก้ไม่ได้แล้ว มันมีร่างกายอยู่ ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้แก้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องแก่ อย่างไรก็ต้องเจ็บ อย่างไรก็ต้องตาย การที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คอยมาดูกายมาดูใจบ่อยๆ เพื่อให้จิตมันยอมรับความจริงของกายของใจได้ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด

ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ธรรมะช่วยเราได้

คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักธรรมะ คิดว่าเข้าวัดต้องไปไหว้โน้นไหว้นี้ เพราะชีวิตมันไม่มีที่พึ่ง แต่พวกเรามีโอกาสได้เรียนธรรมะแล้ว เรารู้วิธีที่จะฝึกจิตตัวเอง เราสามารถอยู่กับโลกได้โดยมีความทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงขั้นอยู่กับโลกแล้วไม่ทุกข์เลยหรอก ถ้าภาวนาจริงจังอันนั้น จิตพ้นโลกไปแล้ว ถึงจะพ้นทุกข์จริงๆ มาหัดภาวนา ภาวนาปฏิบัติ เจริญสติ รักษาศีล สร้างสมาธิ เจริญปัญญาไป เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งจะพบความแตกต่างๆ เราจะรู้สึกเลยว่าคนในโลกน่าสงสาร คนในโลกมันอยู่ในความมืดบอด เราไม่ได้ดูถูกเขา แต่ใจมันสงสาร แล้วก็นึกเมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ดีว่าเราได้พบธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ลงมือปฏิบัติ เราก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ อันนี้เราจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เราเคยทุกข์นานๆ ก็ทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักๆ ก็ทุกข์เบาๆ ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ใจมันเปลี่ยน ซึ่งเรารู้ได้ด้วยตัวเอง มันเห็นด้วยตัวเองได้

การปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ

เริ่มต้นก็ถือศีล 5 แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ด้วยการมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตไป ถัดจากนั้นเวลาสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ มีสมาธิมันก็จะเห็นความจริงของรูปนาม ว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้าดูเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วมรรคผลมันเกิดเองล่ะ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

ค่อยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์ พอรู้แล้ว ปัญญามันแก่รอบ มันก็ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่ง จะปรุงชั่ว จะปรุงดี หรือพยายามจะไม่ปรุง มันก็คือปรุง ก็คือทุกข์ทั้งหมด พอจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็เข้าถึงความสุขที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ความสุขของความสงบ ความสุขของการพ้นความเสียดแทงทั้งหลาย ความสุขของการไม่มีภาระของใจ ใจมันมีความสุขขึ้นมา

ทางใครทางมัน

เราเจริญปัญญา สติระลึกรู้กายบ่อยๆ ก็ใช้กายานุปัสสนาเป็นหลัก สติชอบระลึกรู้เวทนาเป็นหลัก เราก็ใช้เวทนานุปัสสนาเป็นหลัก สติชอบระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล อกุศล เราก็ใช้จิตตานุปัสสนาเป็นหลัก
เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ทางใครทางมัน ไม่มีทางไหนวิเศษกว่าทางไหนทั้งสิ้นหรอก ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจะรู้เลย มันมาได้ทุกทาง เพราะทุกทางนั้นพระพุทธเจ้าสอนทั้งนั้น ไม่ใช่มีทางเดียว ต้องอย่างนี้แล้วต้องไปอย่างนี้ หลักสูตรตายตัวไม่มีหรอก

Page 2 of 3
1 2 3