พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

จิตตั้งมั่นทำให้เราเจริญปัญญาได้

สมาธิที่ดี มันมาจากกำลังของสติ สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันรูปนาม กายใจของเรานี้ หรือสติปัฏฐานก็อยู่ในรูปนามทั้งหมดนั่นล่ะ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เรารู้ จิตเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติรู้ทัน มีสัมมาสติแล้ว สัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ทันปุ๊บ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็จะตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่น ทำขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นของปลอม แต่เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ เพราะกำลังของสติที่รู้กายรู้ใจ อาศัยสติแล้วจิตเราจะตั้งมั่น คือเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา พอเกิดสัมมาสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว มองโลก โลกนี้เริ่มจากกายจากใจของเรา กายกับใจของเราก็คือโลก รูปนามทั้งหลายคือโลก สัตว์ทั้งหลายคือโลก แล้วก็มองความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ตรงที่จิตตั้งมั่นถึงจะทำให้เราเจริญปัญญาได้ จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง

คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

ใช้รูปธรรมนามธรรมเป็นอารมณ์กรรมฐาน

เราจะปฏิบัติธรรมเราต้องรู้หลักให้ดี งานที่เราจะทำ งานหลักคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือรูปธรรมนามธรรม อย่างร่างกายเราเป็นรูปธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทั้งหลายเป็นนามธรรม ร่างกายเป็นตัวรูปธรรม เจริญปัญญานี้ก็ต้องรู้รูปธรรมรู้นามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรม ถัดจากนั้นรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปธรรม หรือเบื้องต้นรู้ความมีอยู่ของนามธรรม ถัดจากนั้นก็รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของนามธรรม ทีแรกรู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจ แล้วต่อไปก็เห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ร่างกายนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ถูกความทุกข์บีบคั้น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆ จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง แปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เห็นความจริงของร่างกาย เห็นความจริงของจิตใจไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการเจริญปัญญา

ทำบุญให้เป็น

พระพุทธเจ้าท่านบอก “จิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส สุคติก็เป็นอันหวังได้” อย่างการทำทาน การช่วยเหลือคนอื่นอะไรอย่างนี้ เขาทำโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน เป็นบุญที่สูง อย่างถ้าเราจะทำบุญสักอย่าง เราก็ยกมือจบเหนือหัว เจ้าประคุณที่บริจาคทรัพย์ครั้งนี้ ขอให้เกิดมาเมื่อไรก็รวยเมื่อนั้น ชาตินี้ก็ขอให้รวยๆๆๆ นี่เจือด้วยกิเลส ทำบุญแบบนี้ได้บุญเล็กน้อยเท่านั้นล่ะ ไม่ได้บุญเยอะหรอก เพราะว่าทำบุญไปด้วยทำบาปไปด้วย เราจะทำบุญ ทำให้มันบริสุทธิ์จริงๆ ทำไปแล้วต้องลดละความเห็นแก่ตัวให้ได้ จับหลักตัวนี้ไว้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้หัดทำบุญให้เป็น ทำบุญให้เป็นไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้ อย่างเราเห็นใครเขาดี เราก็ดีใจกับเขาด้วย คนนี้เขาทำความดีเราดีใจกับเขา

รูปนามคือตัวทุกข์

แต่เดิมหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็คิดว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราไม่ไปยึดไปถือ เราก็ไม่ทุกข์ด้วย มันทุกข์เพราะเราไปยึดขันธ์ 5 ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ 5 เราก็ไม่ทุกข์ พอภาวนาละเอียดขึ้นไปพบว่าไม่ใช่ ที่คิดว่าใช่มันไม่ใช่เสียแล้ว เดิมคิดว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวกลางๆ แต่พอจิตเราเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตเลยทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็เห็นความจริง รูปนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ทุกข์โดยตัวของมันเอง เราจะเข้าไปยึดถือหรือไม่ยึดถือ รูปก็คือตัวทุกข์ นามธรรมก็คือจิตเรานี้ เราจะยึดถือหรือไม่ยึดถือ จิตนั้นก็คือตัวทุกข์ พอรู้แจ้งเห็นจริงว่ารูปคือตัวทุกข์ จิตถึงจะปล่อยวางรูป เรียกรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละสมุทัยได้

ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

จริตเพื่อการทำวิปัสสนา

เวลาจะทำวิปัสสนามี 2 จริต เพราะฉะนั้นอย่างบางคนถาม บอกว่าหนูเป็นโทสจริต หนูจะทำวิปัสสนาอย่างไร อันนั้นถามผิดเรื่อง ถ้าโทสจริต อันนั้นเป็นเรื่องของการแก้ ทำให้จิตสงบ ไม่ตกอยู่ในอำนาจโทสะ เป็นเรื่องของสมถะ จริตเพื่อการทำวิปัสสนานั้นมี 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริตคือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริตคือพวกช่างคิด ชอบวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ มีอะไรหน่อยหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกอยู่นั่น

ค่อยๆ ดู กรรมฐานมันมีเยอะแยะไปหมด ดู เลือกเอาที่เหมาะกับตัวเรา มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ในการทำวิปัสสนา ถ้าเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ดูกายหรือเวทนาทางกายไป ถ้าเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรนี่ ก็ดูจิตตานุปัสสนา ดูจิตกับเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 2 อันนี้เหมาะกับพวกทิฏฐิจริต

จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

แก้ปัญหาที่สาเหตุ

ปัญหาทางโลกๆ มีปัญหาก็แก้ไป ใช้สติ ใช้ปัญญา ไม่ใช่ใช้ความอยาก อย่างเราค้าขายไม่ดี เคยขายดีแล้วก็ขายไม่ดีขึ้นมา เราก็ต้องใช้เหตุผลไปดูว่าทำไมคนไม่เข้าร้านเรา แต่เดิมเข้า มันอาจจะมีร้านอื่นที่น่าสนใจกว่า คนก็ไป นี่คือปัญหา ไปดูว่าปัญหามีสาเหตุที่ไหนก็ไปแก้ที่นั้น เราก็จะแก้ป้ญหาทางโลกได้ ส่วนทางจิตใจเรา ตัวทุกข์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของเรา เราก็ดูอะไรเป็นเหตุของทุกข์ ก็คือตัวตัณหา ตัวความอยาก ถ้าเรารู้ทัน ความอยากดับ ความทุกข์มันก็ดับ

เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเกิดขึ้น จะปัญหาในจิตใจเราเอง หรือปัญหาข้างนอกก็ตาม ปัญหาในชีวิตก็ตาม เวลาแก้ปัญหา ให้ไปพิจารณาให้ดี สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหนแก้ที่นั่น แก้ที่ตัวสาเหตุ

Page 1 of 3
1 2 3