เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้

ทำบุญให้เกิดกุศล

บุญอะไรหลวงพ่อก็ไม่ได้ขวาง พวกเราจะทอดกฐิน ทำบุญทำทานอะไร ทำไปเถอะ มันเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก บางคนร้องขอโดยตัวเองไม่มีต้นทุน ไม่มีใครช่วยได้หรอก นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจัดทอดกฐิน ไม่ทอดได้ไหม ไม่ทอดก็ได้ๆ ไม่ได้อยากได้เงินได้ทองอะไร แต่ทอดแล้วพวกเราได้ประโยชน์ คนจำนวนมากได้ประโยชน์ แล้วเวลาที่เข้ามาที่วัดที่นี่ ไม่ใช่ทอดกฐินอย่างเดียว หลวงพ่อฉวยโอกาสที่พวกเรามาทอดกฐิน พูดธรรมะให้ฟัง ก็เป็นประโยชน์อันที่สองที่พวกเราจะได้ คือนอกจากได้บุญแล้วยังจะได้ปัญญาไปด้วย รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล พอเหมาะพอควร รู้จักการพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นๆ ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ แล้วทำให้มันเกิดเป็นกุศลเข้ามา อยากเป็นกุศลก็ต้องฉลาด ลดละตัวตนลงไปเรื่อยๆ มีสติมีปัญญา นั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล ลำพังการทำความดีเขาเรียกว่าบุญ ทำแล้วสบายใจ แต่ทำกุศล ทำแล้วพ้นทุกข์ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป

อยากได้ความสุขหรืออยากพ้นทุกข์

คนที่ภาวนาแล้วปรารถนาความพ้นทุกข์มีน้อยจริงๆ ส่วนมากจะขอเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุขไปอีกนานๆ คนที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์พ้นการเวียนว่ายตายเกิดมีน้อย ฉะนั้นมันไม่แปลกหรอก ทำไมคนทำทาน ถือศีล ทำบุญอะไรต่ออะไรมีจำนวนมาก แต่คนซึ่งจะบรรลุมรรคผลมีจำนวนน้อย เราก็เลือกเอาเราต้องการอะไร ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข เราก็ทำบุญไป ต้องการสิ่งที่สูงกว่านั้นคือความพ้นทุกข์ก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ มันจะตัดภพตัดชาติของเราให้สั้นลงๆ

ขาดสติเมื่อไรก็คือประมาทเมื่อนั้น

ธรรมะสำคัญที่พระพุทธเจ้าสอนเรานาทีสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ช่วงเวลาสุดท้ายที่ท่านจะนิพพาน ท่านบอกพวกเราให้ทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คำว่าไม่ประมาทคือเราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันไป ถ้าเราทิ้งปัจจุบันก็เรียกว่าเราประมาท คือเราไปเพ้อฝันถึงอดีตเรียกว่าประมาท เพราะว่าเราทำลายเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ ในความฝัน ถ้าเราไปห่วงไปกังวลถึงอนาคต เครียดทั้งๆ ที่ปัญหายังไม่ได้เกิด โง่ไหม เครียด กลุ้มใจตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิดเลย พอปัญหาเกิดแล้วก็ตีโพยตีพายจะให้คนโน้นช่วยจะให้คนนี้ช่วย ใครเขาไม่ช่วยก็โมโหอีกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง ฉะนั้นเราใช้ปัจจุบัน มีสติอยู่กับปัจจุบัน ใช้อดีตเป็นบทเรียน วางแผนถึงอนาคต มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันไป มีสติไปทุกขณะๆ หายใจออก

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ ตั้งใจเสียใหม่ แทนที่จะสนใจแต่คนอื่น สนใจแต่สิ่งอื่น หันมาสนใจร่างกาย จิตใจของตัวเองบ้าง สะสมความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในร่างกาย ในจิตใจของตัวเองให้มากๆ เราดูของจริง สิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับ ดูไป ไม่ใช่เรื่องยาก ในที่สุดปัญญามันก็จะเกิด มันก็จะรู้เลย ทุกสิ่งมันของชั่วคราว สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา รู้ตรงนี้เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ยากหรอก มันยากที่ไม่ยอมรู้

ความสุขในโลกไม่ยั่งยืน

ความสุขในโลกธรรมดาอย่างที่พวกเรารู้จัก ความสุขจากการดูรูป จากการฟังเสียง จากการดมกลิ่น จากการลิ้มรส จากการสัมผัสทางกาย ความสุขอย่างนี้เร่าร้อนไม่ยั่งยืน ได้มายากเสียไปง่าย รักษาไว้ยาก ความสุขที่สูงขึ้นไป ความสุขในสมาธิได้มาก็ยาก ฝึกกันแรมปีเลยกว่าจะเข้าสมาธิเป็น แล้วก็เสื่อมง่าย สูญเสียง่าย เราเพลินในกามนิดเดียวเท่านั้นเสื่อมหมดเลย ฉะนั้นความสุขของโลก ไม่ว่าจะเป็นกามโลก รูปโลก อรูปโลก ไม่ยั่งยืนหรอก

แก้มิจฉาทิฏฐิด้วยวิปัสสนา

ตัวที่จะช่วยแก้มิจฉาทิฏฐิเราได้มีตัวเดียวเอง คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราจะเห็นรูปธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป รูปก็มีเหตุสัมพันธ์สืบเนื่องกันไป อย่างร่างกายเราอาศัยธาตุมาประชุมกัน มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ร่างกายเราก็ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยนไป จากตัวเล็กก็ตัวโตขึ้น โตเต็มที่แล้วก็เริ่มตัวฝ่อลงไป สุดท้ายก็แตกสลาย จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราภาวนาเราก็จะเห็น จิตทุกชนิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

สิ่งที่ควรทำคือความดี

ทานมีโอกาสทำก็ทำ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึกทั้งความสงบ ทั้งการเจริญปัญญา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เท่ากับเราได้ใช้ชีวิตของเรา ใช้ร่างกายของเรา ทำประโยชน์สูงสุดให้ตัวเองแล้ว การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นประโยชน์รองลงไปแล้ว แต่ประโยชน์ที่สำคัญเลยคือพัฒนาตัวเองได้ นำตัวเองไปสู่ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก พ้นทุกข์ได้

ปัจจัย 4 ของจิต

ศีลเป็นเสื้อผ้าของจิต ถ้าศีลเราดีคล้ายๆ เราแต่งตัวเรียบร้อย ไปเข้าสังคมที่ไหนก็องอาจกล้าหาญ จิตก็ต้องมีบ้านเหมือนกัน เวลาอยู่บ้านเรารู้สึกปลอดภัย จิตที่มีสมาธิมีวิหารธรรม มันจะรู้สึกปลอดภัย ไม่กลัวอะไร ร่างกายยังต้องการยารักษาโรคด้วย จิตก็ต้องการ โรคของจิตก็คือกิเลส สิ่งที่จะล้างกิเลสได้คือตัวปัญญา