ทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์

สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ อกุศลเกิดขึ้นรู้ทัน อกุศลก็ดับไป ในขณะที่มีสติอยู่ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด ในขณะที่มีสตินั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่สติเกิดบ่อยๆ กุศลก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะทำสัมมาสติได้บริบูรณ์ ต้องทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วอกุศลที่มีอยู่จะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด ที่เกิดแล้วก็จะงอกงามพัฒนาขึ้นไป จนถึงกุศลสูงสุด สิ่งที่เรียกว่ากุศลขั้นสูงสุด คือปัญญา ในบรรดากุศลทั้งหลาย ปัญญาเป็นกุศลสูงสุด พอมีปัญญา เมื่อกี้บอกแล้ว เห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ หลุดพ้น

บางคนไม่สามารถดูจิตดูใจได้ ยังไม่สามารถทำสัมมาวายามะให้บริบูรณ์ได้ อย่างไปนั่งสมาธิ ทำความสงบไป จมอยู่กับกิเลส เผลอเพลิน มีความสุข อันนั้นไม่มีสัมมาวายามะ กิเลสไม่เร่าร้อน เลยไม่ได้แผดเผากิเลส ไม่มีอาตาปี ไม่ได้แผดเผากิเลส แต่เบื้องต้นบางคนก็ต้องดูกาย ดูเวทนาไปก่อน พอทำมากๆ เข้า ชำนิชำนาญขึ้น สติดีขึ้น มันก็เริ่มสังเกตจิตใจออก ตรงที่สังเกตจิตใจออก สัมมาวายามะก็จะเจริญขึ้น สัมมาสติก็จะเจริญ สัมมาสมาธิก็จะเจริญขึ้น

ความเพียรชอบ

การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น อกุศลใดๆ ที่มันมีอยู่ พอเราสังเกตเห็น อกุศลนั้นจะดับ แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ แล้วอย่างเรากำลังมีกิเลสอยู่ แล้วเราเกิดสติขึ้นมา ตรงที่มีสติ อกุศลดับ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะสติมันเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ดวง เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเกิดสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ดับลงไปแล้ว แล้วถ้าสติเราเกิดบ่อยๆ กุศลเราก็เจริญขึ้น พัฒนางอกงามขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แก่รอบขึ้นมา สุดท้ายก็เข้าสู่โลกุตตระ

ฉะนั้นคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป จิตใจเป็นอกุศลให้รู้ทัน จิตใจเป็นกุศลให้รู้ทัน รู้บ่อยๆ การที่เราคอยรู้บ่อยๆ ทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น พอมีสัมมาวายามะ เราหัดสังเกตจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดีขึ้นด้วย สติมันก็จะดีขึ้นด้วย ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมา บอกแล้ว สัมมาวายามะไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินนาน แต่อยู่ที่รู้ทันจิตใจของตัวเอง

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

ความไม่ทุกข์คือรางวัลอันยิ่งใหญ่

คนซึ่งภาวนากับคนที่ไม่ได้ภาวนามันจะต่างกัน มีส่วนที่เหมือนกันแล้วก็มีส่วนที่ต่างกัน ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติเหมือนกัน ร่างกายนี้เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกัน ทางจิตใจ บางทีก็สมหวัง บางทีก็ผิดหวัง บางทีก็พลัดพรากจากคนที่เรารักอะไรอย่างนี้ บางทีก็เจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ หมุนเวียนตลอดเวลา เปลี่ยนแปลง เหมือนๆ กัน

ฉะนั้นที่เราพยายามมาฝึกตัวเอง มาภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจเราจะไม่ทุกข์ ไม่ว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่เลว จิตใจของเราก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์ นี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เราจะได้

เราต้องสู้กับตัณหาให้ได้

งานหลักของเราต้องสู้กับตัณหาให้ได้ มันเป็นเจ้านายบังคับบงการจิตใจ จิตใจก็ไปบังคับร่างกายให้พูดชั่ว ให้ทำชั่ว ให้เลี้ยงชีวิตชั่วต่อไปอีก มันมาจากความคิดชั่ว กิเลส ตัณหาทั้งหลาย มันซ่อนอยู่ข้างหลัง พอเรารู้ทัน มันจะทำงานไม่สำเร็จ กิเลส ตัณหาอะไรที่มีอยู่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลง กุศลก็จะค่อยเจริญขึ้นๆ สติก็จะดีขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะดีขึ้น พอจิตเราตั้งมั่น มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำให้มากเลย ต่อไปสัมมาวิมุตติมันก็จะเกิด

จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

เราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย

เห็นความหลงคิด ความโกรธ ความหดหู่ แต่ยังมีความไม่เป็นกลาง เมื่อโกรธอาจจะมีผิดศีลทางวาจาออกไปบ้าง

คำถาม: พอจะเห็นความหลงคิด ความโกรธ ความหดหู่ได้อยู่บ้าง …

Read more

รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด

เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดของเราก็จะสะอาด การกระทำของเราก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา

รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

การพัฒนาองค์มรรค

พัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง

Page 1 of 2
1 2