จิตคือละครโรงใหญ่

เราดูละครเวที บางทีมีดารามาเล่นทีหนึ่งตั้ง สิบตัว ละครเต็มเวที ดูจิตมันก็เหมือนกัน ในสภาวะอันหนึ่งๆ มีตัวละครประกอบกันจำนวนมาก เวลาดูละครเวทีถึงจะมีตัวละครเป็นสิบตัว ยิ่งถ้าเล่นโขนมีหลายสิบตัวเลย เราจะดูตัวที่เป็นตัวที่กำลังแสดง เป็นตัวเอกขณะนั้น ไม่ใช่ตัวเอกต้องเป็นพระเอก นางเอก ตัวเอกหมายถึงตัวที่มีบทบาทหลักในขณะนั้น ดูละครเดี๋ยวก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวก็ดูตัวนี้ แต่ว่าดูได้ทีละตัว สังเกตให้ดีเราดูทีละตัวเท่านั้น ดูจิตนี้ก็เหมือนกัน ในขณะหนึ่งๆ มีองค์ธรรมจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยกัน ไม่ใช่จิตมีดวงเดียวแล้วก็มีอยู่ดวงเดียวเท่านั้น มันมีทั้งเวทนาก็มีอยู่ สังขารก็มี สัญญาก็มี ความจงใจ มนสิการ ความใส่ใจที่จะรู้ก็มี ความเป็นหนึ่ง รู้อารมณ์อันเดียวก็มีเรียก เอกัคคตา ความรับรู้เรียกว่าจิต หรือเรียกว่าวิญญาณ ก็มีอยู่ เราดูจิตใจเราเล่นละคร มันเปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวตัวนี้เล่นๆ เดี๋ยวตัวอิจฉาเล่น เดี๋ยวตัวโกรธเล่น เดี๋ยวตัวรักเล่น เดี๋ยวตัวโลภเล่น เล่นหมุนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวเศร้าโศกก็เล่น เดี๋ยวตัวมีความสุขก็เล่นขึ้นมา ดูใจของเราเหมือนดูละคร ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น ไม่ต้องหา

การพัฒนาองค์มรรค

พัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง

พัฒนาเครื่องมือให้ดี

อันแรกถือศีลไว้ แล้วก็ฝึกสติของเรา คอยระลึกรู้กาย คอยระลึกรู้ใจเนืองๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาระลึก พอมีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติเกิดเอง มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดเอง สติตัวนี้เป็นสัมมาสติแล้ว แล้วจิตมันเคลื่อนไปๆ หลงไปที่อื่น รู้ทัน หลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน หลงไปแสวงหาอารมณ์ว่าจะดูอะไรดี ควานๆๆ รู้ทัน สติรู้ จิตก็เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา

ธรรมะช่วยเราได้

คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักธรรมะ คิดว่าเข้าวัดต้องไปไหว้โน้นไหว้นี้ เพราะชีวิตมันไม่มีที่พึ่ง แต่พวกเรามีโอกาสได้เรียนธรรมะแล้ว เรารู้วิธีที่จะฝึกจิตตัวเอง เราสามารถอยู่กับโลกได้โดยมีความทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงขั้นอยู่กับโลกแล้วไม่ทุกข์เลยหรอก ถ้าภาวนาจริงจังอันนั้น จิตพ้นโลกไปแล้ว ถึงจะพ้นทุกข์จริงๆ มาหัดภาวนา ภาวนาปฏิบัติ เจริญสติ รักษาศีล สร้างสมาธิ เจริญปัญญาไป เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งจะพบความแตกต่างๆ เราจะรู้สึกเลยว่าคนในโลกน่าสงสาร คนในโลกมันอยู่ในความมืดบอด เราไม่ได้ดูถูกเขา แต่ใจมันสงสาร แล้วก็นึกเมื่อก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ดีว่าเราได้พบธรรมะของพระพุทธศาสนา เราก็ลงมือปฏิบัติ เราก็สะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ทุกข์น้อยลงๆ อันนี้เราจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เราเคยทุกข์นานๆ ก็ทุกข์สั้นลง เคยทุกข์หนักๆ ก็ทุกข์เบาๆ ทุกข์นิดๆ หน่อยๆ ใจมันเปลี่ยน ซึ่งเรารู้ได้ด้วยตัวเอง มันเห็นด้วยตัวเองได้

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

Page 2 of 2
1 2