ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา

จุดสำคัญก็คือ เราจะต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย ก็จะเห็นว่าร่างกายถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศล อย่างโลภโกรธหลง มันก็จะเห็น กุศลอกุศลโลภโกรธหลงอะไรไม่ใช่ตัวเรา นี่เราฝึกมากเข้ามากเข้า เราก็จะเห็นว่าบางครั้งจิตก็เป็นผู้รู้ บางครั้งจิตก็เป็นผู้หลง จิตที่เป็นผู้รู้มันก็ถูกรู้ จิตที่เป็นผู้หลงมันก็ถูกรู้ สุดท้ายกระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

วิธีปล่อยวาง

พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้

วิธีเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง

วิธีที่เราจะเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง ก็คือการเห็นความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เข้าถึงความสงบด้วยการเข้าฌาน เข้าฌานเก่งแค่ไหนก็ตาม ถึงจุดหนึ่งจิตก็ต้องออกจากสมาธิมา มากระทบอารมณ์ข้างนอกอีก ตอนที่อยู่ในฌานก็มีความสุขดี พอออกมาแล้วกิเลสก็เหมือนเดิม เหตุที่แท้จริงก็คือเราไม่ยอมรับ จิตมันไม่ยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ ล้วนแต่เป็นของที่บังคับควบคุมไม่ได้ ถ้าเมื่อไรเราสามารถยอมรับความจริงของกายของใจ ว่ามันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันอยู่นอกเหนืออำนาจบังคับบัญชา ยอมรับความจริงตัวนี้ได้ จิตจะหมดความอยากสิ้นเชิง เมื่อจิตหมดความอยากหรือหมดตัณหา จิตจะหมดความดิ้นรน เมื่อจิตหมดความดิ้นรน จิตก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ ความสงบที่แท้จริง สันติตัวนี้ก็คือนิพพาน

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

ฝึกจนเป็นอัตโนมัติ

โลภเจตนา อย่างเราถือศีล มีความโลภซ่อนอยู่ อยากได้เป็นคนดี อยากเป็นเทวดา ทำสมาธิก็มีความโลภซ่อนอยู่ อยากมีฤทธิ์มีเดช อยากไปเป็นพระพรหม เจริญปัญญาก็อยากรอบรู้ อยากแตกฉาน อย่างนี้กิเลสแทรกอยู่ ถ้ากิเลสแทรกอยู่ จิตใจก็ยังจะดิ้นรน สร้างภพสร้างชาติต่อไป แต่ถ้าเราภาวนาจนกระทั่งศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ คือเห็นไตรลักษณ์โดยไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนี้เราไม่มีเจตนา ไม่มีความโลภ เมื่อขาดเจตนาที่เจือด้วยโลภะตัวนี้ จิตก็จะไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง จิตจะสักว่ารู้ สักว่าเห็น

หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

หลักของการปฏิบัติ

หลักของการปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ

รู้สภาวะที่เรารู้ได้

พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้

วิธีพ้นจากความปรุงแต่ง

การพัฒนาศีลก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาสมาธิก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาก็คือความปรุงแต่งที่ดี พัฒนาปัญญาเป็นความปรุงแต่งที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่ต้องปรุงแต่ง ถ้าเราไม่ปรุงแต่งศีล สมาธิ ปัญญา จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่ว เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว ฉะนั้นเราพัฒนา ทำไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน

วิธีฝึกสติปัฏฐาน

เราต้องพยายามฝึกตัวเอง มีวินัยในตัวเอง แล้วก็พยายามฝึกสติปัฏฐาน ทุกวันๆ ต้องฝึก วิธีฝึกสติปัฏฐานก็คือ ต้องมีฐานที่ตั้งของสติเสียก่อน ฐานที่จะทำให้เกิดสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้ให้แล้ว คือกาย เวทนา จิต ธรรม พวกเราต้องมีสติไว้ แต่สตินั้นเป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้กาย ก็คือรู้สึกกายอย่างที่กายเป็น ระลึกรู้เวทนาอย่างที่เวทนาเป็น ระลึกรู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้อย่างที่มันเป็น ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ มีวิหารธรรมที่เราทำได้ ที่ทำไม่ไหวก็เว้นไปก่อน ไม่ต้องไปทำ อย่างดูกายก็ดูในส่วนที่ทำได้ ดูจิตก็ดูในส่วนที่ทำได้ แล้วดูเนืองๆ ดูเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในกายบ่อยๆ รู้สึกอยู่ในจิตบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ แล้วสติมันจะเข้มแข็งขึ้น

Page 1 of 2
1 2