สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

เจริญจิตตสิกขา

การที่เราจะมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้ทั้งสัมมาสติ ได้ทั้งสัมมาสมาธิ คราวนี้พอเรามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวง เห็นสภาวะ สักว่ารู้ว่าเห็น แต่แค่นี้ยังไม่พอ บางทีมันก็ไปเห็นทุกอย่างว่างหมดเลย แล้วจิตก็ติดอยู่ในว่าง ต้องมีการหมายรู้ที่ถูกด้วย ต้องมีสัญญาที่ถูกต้องด้วย ปัญญาที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีสัญญา จิตเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ให้เราได้องค์ธรรมเหล่านี้

ต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท ไม่ขี้เกียจ เห็นถึงจิตที่คอยสั่งการคิดโน้นคิดนี้ ขอแนะแนวทางเพื่อความเจริญในธรรมค่ะ

คำถาม: ภาวนาทุกวัน สวดมนต์ตอนเช้า สายๆ เดินจงกรม 1 ชั่ว …

Read more

ศีล 5 มีประโยชน์มาก

ความชั่วแม้แต่เล็กๆ น้อยๆ อะไรก็อย่าทำ ศีล 5 รักษาเอาไว้ อย่างน้อยเราไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง เป็นความชั่ว ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ละเว้นการทำชั่ว การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยร่างกาย ไปฆ่าเขา ไปขโมยเขา เป็นชู้เขา ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยวาจา รวมแก๊งรวมก๊วนไปด่าคนโน้นด่าคนนี้ก็กรรม ส่วนข้อ 5 ไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเอง ไม่เสพสิ่งเสพติด ศีล 5 มีประโยชน์มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจที่ไม่เบียดเบียนใจมันร่มเย็น สมาธิมันก็เกิดง่าย สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ มันเป็นภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้ามีสมาธิมากพอ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา ไม่ต้องรักษา มันเป็นอัตโนมัติ สติก็อัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ ปัญญาสุดท้ายก็อัตโนมัติ

จิตก็มักจะติดการคิด จึงใช้วิธีจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยค่ะ

คำถาม:

ปฏิบัติโดยใช้วิภัชวิธีตามที่หลวงพ่อสอน แต่จิตก็มักจะติดการคิด จึงใช้วิธีจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

สมาธิเรายังไม่มี เรายังเจริญปัญญาไมได้จริงหรอก การที่บอกวิภัชวิธี มันเป็นการคิดแยกเอา มันยังไม่ได้เห็นว่ามันแยกกัน ก็เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นเสียก่อน จิตเราฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธอะไรก็เอา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ทำบ่อยๆ พอทำไป พอจิตมันมีกำลังมันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจมันก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้การหายใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เวทนาในร่างกายเกิดขึ้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เวทนาในใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว กุศล อกุศล ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันจะค่อยๆ แยก มันแยกด้วยการเห็น เพราะจิตมันเป็นคนเห็นแล้วมันจะเห็นขันธ์มันแยกออกไป มันแยกเอง ของโยมใจมันยังฟุ้งเยอะอยู่ ฉะนั้นเพิ่มกำลังของสมาธิก่อน ถ้าสมาธิไม่พอ ใจเราฟุ้งๆ มันเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นทำสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป แล้วค่อยมาส่งการบ้านต่อ ตอนนี้เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

เนิ่นช้าเพราะภาวนาผิด

จับหลักให้แม่นๆ แล้วลงมือทำ จะได้ไม่พลาด ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำกันนาน มองไม่เห็นผล ไม่เห็นฝั่ง ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหตุรู้ผล

สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก

สติปัฏฐานคือมีสติอยู่ในฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง ถ้าเมื่อไรไม่มีสติรู้กาย ไม่มีสติรู้ใจ เมื่อนั้นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐานเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น จิตจะเข้าถึงความสิ้นตัณหาได้ต้องทำสติปัฏฐาน ไม่มีทางเลือกทางที่สอง

ลองดูเวทนา เห็นความเจ็บแต่ยังไม่สามารถแยกกายกับความเจ็บปวดออกจากกันชัดเจน เข้าใจว่าสมาธิไม่พอ

หลวงพ่อบอกให้ฝึกมีสติเป็นอัตโนมัติเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โยมคิดว่าโยมทำได้ดีขึ้น ทุกวันพยายามรักษาศีล 5 และทำในรูปแบบทั้งนั่งทั้งเดิน เห็นมานะอัตตาของตัวเองได้บ่อยและชัดขึ้น ได้เห็นโทสะก่อตัวพองขึ้นและแฟบหายไป บางครั้งเวลาอยากกลืนน้ำลายจะไปดูใจที่มันอยากก่อน เห็นว่ามันดิ้นแล้วค่อยกลืน ล่าสุดลองดูเวทนาจากอาการเจ็บข้อมือ เห็นความเจ็บทั้งฉาบและแทรกอยู่ในข้อมือแต่ยังไม่สามารถแยกกายกับความเจ็บปวดออกจากกันชัดเจน มันยังรวมกันอยู่ แต่ดูได้ไม่นานก็เลิกเพราะเจ็บมาก ใจมันไม่เอา เข้าใจว่าสมาธิยังไม่พอ ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะการปฏิบัติเพื่อความเจริญในธรรมต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

การดูกายเวทนาจะทำได้ดีถ้าสมาธิเรามากพอ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ามันเหมาะกับสมถยานิก เหมาะกับคนเล่นฌาน แต่เราดูไปก็ได้ ทนๆ เอา ดูอย่างที่ดูนั่นล่ะ ตอนนี้ยังทนไม่ได้ ต่อไปการที่เราฝึกของเราเรื่อย ดูของเราเรื่อยๆ สมาธิมันก็เพิ่ม เรียกว่าใช้ปัญญานำสมาธิไป สมาธิมันเพิ่ม ต่อไปมันก็ทนได้ การดูเวทนาจำได้ไหมหลวงพ่อชอบสอนเราว่าเวทนาทางกายดูยาก สมาธิไม่พอ สติแตกเอาง่ายๆ เลย ดูเวทนาทางใจไปก่อน ใจเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ ดูตรงนี้ให้ชำนิชำนาญ

พอเราดูชำนิชำนาญ สติเราก็แข็งแรงขึ้น สมาธิเราก็แข็งแรงขึ้นอะไรอย่างนี้ ปัญญามันก็แข็งแรงขึ้น ต่อไปจะไปดูกาย ดูเวทนา มันก็พอดูได้หรอก เพราะสมาธิมันดีขึ้นแล้ว ทำในจุดที่เรายังทำได้ ตรงไหนที่เกินกำลัง ยังไม่ต้องไปสู้ตรงนั้น มันเหมือนเราจะชกมวย เราจะไปชกกับพวกกระจอกๆ ก่อน ขืนเราไปชกกับแชมป์โลกก่อน เราก็ฝ่อตายเลย ไม่มีทางสู้ ค่อยๆ หัดชกจากของที่ทำได้ ดูของที่ทำได้ อย่างเวทนาทางใจดูง่าย ดูไปๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ แล้วต่อไปมันก็เห็นกายกับใจมันก็คนละอันกัน แล้วต่อไปมันก็เห็นกาย เวทนากับใจมันก็คนละอันกัน ตรงที่เราเห็นกายมันเจ็บมากๆ แล้วเราทนไม่ไหวนี่ ไปดูให้ดี ไม่ใช่เราทนไม่ไหว มันเกิดสังขาร เกิดความปรุงแต่งของจิต ความดิ้นรนทุรนทุราย ความวิตกกังวล ความเดือดร้อนรำคาญอะไรของจิตขึ้นมา เราไม่ได้เห็นตรงนี้ ถ้าเราเห็นตรงนี้ ตัวนี้ดับ เราก็จะดูกายกับเวทนาได้สบายๆ จะเห็นจิตที่ทุรนทุราย จิตไม่ได้เคยทุรนทุราย แต่ความทุรนทุรายมันแทรกเข้ามาในจิต มันเป็นอีกขันธ์หนึ่ง คือสังขารขันธ์

ฉะนั้นถ้าเราแยกได้ 5 ขันธ์แยกได้แล้ว การภาวนาก็ง่ายแล้ว ดูกายแล้วก็เห็นแยกจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดูเวทนาก็เห็นแยกออกจากกาย สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรอย่างนี้ ดูจิตดูใจก็เห็นแยกออกจากรูป เวทนา สัญญา สังขารอะไรอย่างนี้ มันค่อยๆ ฝึกจนมันชำนิชำนาญ มันก็แยกได้หมด ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ แต่ถ้าโทสะแทรกก็ให้รู้เอา มีโทสะไม่พอใจ มันแทรกขึ้นมา เราก็รู้ กิเลสอะไรแทรกขึ้นมา เราก็รู้เอา ดีที่ฝึกอยู่

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

จิตตั้งมั่น

พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันจะเห็นทุกข์ได้ ถ้าจิตไปว่างอยู่ข้างนอก ไม่มีวันเห็นทุกข์หรอก มันมีแต่สุข มันมีแต่สบาย มีแต่ว่าง ถ้าจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ ระลึกลงในกายก็เห็นทุกข์ในกาย ระลึกลงที่จิตก็เห็นทุกข์ที่จิต ตรงนี้จิตมันเดินปัญญาได้ แล้วขันธ์มันแยก มันแยกตั้งแต่จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว