รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ

มีร่างกาย มันก็มีภาระ มีผมก็มีภาระ มีขนก็มีภาระ อย่างต้องโกนหนวดโกนเครา โกนขนรักแร้ โกนขนหน้าแข้ง ผิวหนังมีรูพรุนๆ อยู่ทั้งตัวเลย ผิวหนังมีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา สวยแค่ไหน ไม่อาบน้ำสัก 2 – 3 วัน ก็ไม่มีใครเขาเข้าใกล้แล้ว เหงื่อไคลสกปรกโสโครก เป็นขี้กลากขี้เกลื้อนอะไรขึ้นมา ไม่ได้สวยไม่ได้งาม ถ้าเราดูลงไป เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มีร่างกายก็มีภาระอันมากมายเกิดขึ้น ใจมันก็จะค่อยๆ คลายความรัก ความหวงแหนในร่างกายออกไป สุดท้ายมันก็รู้สึกร่างกาย มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก พอเห็นอย่างนี้มันจะค่อยคลายความยึดถือในร่างกายออกไป ถ้าเราดูจิตดูใจเราก็จะเห็น ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิต จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เป็นภาระกับจิตทั้งสิ้น เป็นภาระในการแสวงหาอารมณ์ที่ดี เป็นภาระในการผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นภาระในการรักษาอารมณ์ที่ดีอะไรอย่างนี้ มันมีภาระเกิดขึ้นทั้งหมดเลย ถ้าจิตมันไปหลงในความรู้สึกทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็เป็นภาระของจิต เห็นแล้วก็วางได้

เรียนลงที่กายที่ใจ

เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้ สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์ มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

จิตที่พ้นจากอุปาทานขันธ์

บางคนก็มองพระภาวนาดีทำไม สมองเสื่อมขาดสติ มองไปเลยไม่ใช่พระแท้ สมองเสื่อมได้ ขาดสติได้ พวกนี้ไม่แยกแยะ สมองมันเป็นตัวรูปอยู่ในรูปธรรม รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง สัญญาเที่ยงไหม จำไม่ได้ สัญญาไม่เที่ยง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว สังเกตไหมว่าคนไปโวยวายใส่ท่าน ท่านยังไม่ปรุงชั่วเลย ไม่ได้เป็นอะไรเลย พระพุทธเจ้าท่านแก่ไหม ท่านเจ็บไหม ท่านตายไหม นั่นพระพุทธเจ้านะ ท่านก็แก่ ท่านก็เจ็บ ก็ตาย มันเรื่องของขันธ์ แยกไม่ออกว่าจิตที่มันพ้นขันธ์ไปแล้ว กับขันธ์มันคนละเรื่องกัน สิ่งที่สมบูรณ์คือท่านภาวนา สมมติว่าท่านจบ ท่านรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ จิตท่านไม่เข้าไปยึดไปถืออะไรอีกแล้ว โดยไม่ต้องระวังไม่ต้องรักษา สติอะไรพวกนี้มันอัตโนมัติ แต่มันไม่ใช่สติ ไม่ใช่ความจำสัญญาอย่างโลกๆ นั่นเป็นเรื่องของขันธ์ สังเกตไหมคนโวยวายตั้งเยอะแยะ มาล้อมหน้าล้อมหลังจะมาเล่นงานท่าน ยืนค้ำศีรษะท่านตวาดแว้ดๆ ด่าหยาบคาย ท่านเฉยท่านไม่ต้องรักษาจิตของท่าน ธรรมะมันรักษาจิตของท่านเอาไว้เอง ส่วนเรื่องความจำเรื่องอะไรอันนี้ บางทีแก่มากๆ ก็จำไม่ได้ สมองมันเสื่อม

เรียนรู้อายตนะเพื่อละตัณหา

ภาวนาเรื่อยๆ ตามสังเกตของจริงไป จะรู้เลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย จะอายตนะภายนอก เกิดแล้วก็ดับ อายตนะภายในเกิดแล้วก็ดับ จิตวิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะละตัณหา แล้วมันละเด็ดขาด ละแล้วไม่เกิดอีก ละทีเดียวแล้วเลิกกันไปเลย ถ้ายังไม่เห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ก็ละด้วยสติ ด้วยสมาธิได้ชั่วคราว แต่เจริญปัญญาจะละได้เด็ดขาด พระพุทธเจ้าถึงสอน “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

เข้าใจจิตก็เข้าใจโลก

เข้าใจจิตใจตัวเองก็จะเข้าใจชีวิตของตัวเอง เข้าใจสิ่งที่แวดล้อมชีวิตของเราอยู่ ครอบครัวเราอย่างนี้แวดล้อมเราอยู่ ที่ทำงานเรา เพื่อนร่วมงานเราแวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สังคมข้างนอกก็แวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สังคมระหว่างประเทศก็แวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถ้าชั้นในสุดก็คือที่จิตของเราเอง เขยิบกว้างออกมาก็มีที่กายด้วย ที่จิตด้วย กว้างกว่านั้นก็เป็นครอบครัว เป็นสังคม เป็นชั้นๆ ไป เรียนจากแกนกลางของมัน เรียนรู้อยู่ที่จิตได้ง่ายที่สุดเลย ถ้าเมื่อไรเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา โลกทั้งโลกมันก็ไม่เป็นตัวเราหรอก

Page 3 of 3
1 2 3