ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

วิ่งหาความสุข

ความสุขเหมือนภาพลวงตาเหมือนเหยื่อที่อยู่ข้างหน้า หลอกให้เราวิ่งไปหาตลอดเวลา แล้วก็ไม่เจอ พระพุทธเจ้าท่านมีสติมีปัญญาสูง ท่านไม่ได้สอนให้เราวิ่งหาความสุขซึ่งมันเหมือนภาพลวงตา หาเท่าไรก็ไม่เจอเสียที ท่านบอกว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเรา ต้องพ้นจากความทุกข์ให้ได้ คือท่านมีสติมีปัญญาสูง

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต

สิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตเรา การปฏิบัติจะเหลือนิดเดียวเลย แต่ถ้าเรายังเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราก็อ้อมๆ ไปก่อน ไปดูกาย ดูเวทนา ดูสังขารอะไรไป แต่ถ้าตัดตรงเข้ามาเห็นจิตได้ เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ อย่างนี้ดูจิตไปเลย วันไหนดูไม่ไหว จิตไม่มีกำลัง ไปดูกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเข้ามาดูจิตได้เอง นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา แล้วหลวงพ่อก็เอามาทำ ใช้เวลาไม่มาก

จิตใจเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่ละวันจิตใจของเราไม่เคยเหมือนกันเลย แล้วเราก็บังคับไม่ได้ เขาสอนธรรมะเรา สอนความไม่เที่ยงให้เราเห็น วันนี้เป็นอย่างนี้ๆ มีแต่ความไม่เที่ยง แล้วก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ ค่อยๆ สังเกต แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน พอเราดูตรงนี้ออก เราก็มาสังเกตให้ละเอียดขึ้นไป ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน ตอนเช้า จิตใจเราแบบหนึ่ง ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก วันเดียวกันแท้ๆ จิตใจเราก็ไม่ค่อยเหมือนกันแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เราสังเกตตัวเอง เริ่มสังเกตหยาบๆ หัดสังเกตว่าแต่ละวันจิตใจเราไม่เหมือนกัน ต่อมาเราก็สังเกตได้ละเอียดขึ้น ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราไม่เหมือนกัน

เราค่อยๆ ปฏิบัติ ทำสม่ำเสมอไป เราก็เห็นได้ประณีตขึ้น ทีแรกรู้หยาบๆ แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน ในวันเดียวกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่เหมือนกัน นึกถึงวันก่อนช่วงเวลาเดียวกัน แต่ละวัน จิตใจก็ไม่เหมือนกัน พอดูได้ละเอียด เราจะเห็นจิตใจเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเช้าๆ จิตก็เปลี่ยนไปตั้งเยอะตั้งแยะ

สติปัฏฐาน

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการที่เรามีความเพียร คอยระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ระลึกรู้สภาวธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง แล้วก็สูงสุดเลย ก็คือเรียนรู้กระบวนการของจิต ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง อันนั้นก็คืออริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาท

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้

GPS เส้นทางการปฏิบัติ

หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป

ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

ความไม่ทุกข์คือรางวัลอันยิ่งใหญ่

คนซึ่งภาวนากับคนที่ไม่ได้ภาวนามันจะต่างกัน มีส่วนที่เหมือนกันแล้วก็มีส่วนที่ต่างกัน ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติเหมือนกัน ร่างกายนี้เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกัน ทางจิตใจ บางทีก็สมหวัง บางทีก็ผิดหวัง บางทีก็พลัดพรากจากคนที่เรารักอะไรอย่างนี้ บางทีก็เจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ หมุนเวียนตลอดเวลา เปลี่ยนแปลง เหมือนๆ กัน

ฉะนั้นที่เราพยายามมาฝึกตัวเอง มาภาวนาเพื่อวันหนึ่งจิตใจเราจะเกิดความมั่นคงขึ้นมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจเราจะไม่ทุกข์ ไม่ว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่เลว จิตใจของเราก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์ นี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่เราจะได้

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

Page 2 of 3
1 2 3