กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

น้ำหนักในใจคือดัชนีชี้วัด

บางคนยังไม่ได้ภาวนาใจสบายเป็นธรรมดา พอจะดูจิตเริ่มจ้องแล้ว เครียดแล้ว จะดูตรงไหนดี ไม่เห็นว่าใจกำลังโลภ ใจกำลังฟุ้งซ่าน สภาวะเกิดแล้วไม่เห็น ใจก็เครียดขึ้นมา หรือบางคนเห็นโทสะ โทสะเกิดขึ้นใจไม่ชอบ ไม่เห็นว่าใจไม่ชอบ มีน้ำหนักเกิดขึ้น ใจเครียด ฉะนั้นน้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจ เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรารู้เป็นธรรมชาติไหม หรือรู้แบบมีตัณหาแทรกเข้ามา ถ้ารู้อย่างเป็นธรรมชาติ จะไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ ลองไปดู น้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวหนักมาก เดี๋ยวหนักน้อย เวลาจิตเราชั่วๆ ก็หนักมาก เวลาจิตเราเป็นกุศลก็หนักน้อยหน่อย เวลาเราอยากดีลงมือปฏิบัติ บังคับกายบังคับใจก็หนักเยอะหน่อย ถ้าเห็นกายเห็นใจมันทำงาน แต่มีความจงใจจะไปเห็นก็หนักน้อยหน่อย มีแต่หนักมากกับหนักน้อยในใจ ตรงนี้จริงๆ ก็แสดงธรรมะ จิตนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดูอย่างนี้ก็เดินปัญญาได้

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

จิตคือหัวโจก

ตัวสำคัญคือตัวจิต จิตนี้เดี๋ยวก็โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นถึงจะเริ่มจากการรู้รูป สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตจนได้
แต่ถ้าเราลัดเข้ามาที่จิตได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม เข้ามาที่จิต ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอันเดียว ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว อายตนะทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว เล่นมันที่หัวโจกตัวเดียวเลย

เป็นคนรักกายมาก แต่ดูกายแล้วไม่มีความสุข ใจมันเฉย ไม่สดชื่น พอมาดูจิต ใจตื่นเบิกบาน

มีปัญญาแก่กล้า ดูกายแล้วจืดๆ เฉยๆ ถ้าดูจิตมันโลดโผน ทำงานสารพัด ดูจิตก็ได้ แต่ไม่ทิ้งสมาธิ ถ้าทิ้งสมาธิแล้วจะดูจิตไม่ได้จริง จิตมันจะไปว่างๆ อยู่ข้างนอก ฉะนั้นเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไป หายใจไป พุทโธไป จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตหนีไปก็รู้ ถ้าจิตไม่มีที่อยู่ มันหนีไปเราไม่รู้หรอกว่ามันหนี แต่ถ้าจิตมันมีฐานที่มั่นอยู่ พอมันหลุดออกจากที่มั่นของมัน เราจะรู้ว่ามันเคลื่อนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามีวิหารธรรมเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ในสติปัฏฐาน 4 ตัวแรกเลยที่ท่านสอนคือการมีวิหารธรรม ให้ใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม เวทนาในเวทนาเป็นวิหารธรรม เริ่มต้นก็คือต้องมีวิหารธรรมก่อน

เข้าใจจิตแล้วเข้าใจธรรมทั้งหมด

ถ้าเราตัดตรงเข้ามา เห็นความจริงของจิตได้ เวลาที่มันรู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิตว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา เจตสิกทั้งหลายก็พลอยไม่ใช่เราด้วย เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู รูปทั้งหลายมันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดูเท่านั้น ตัวนี้มันก็ถูกรู้ รูปภายในหรือรูปภายนอก รูปคนอื่น รูปสัตว์อื่น มันก็อาการเดียวกัน มีลักษณะอันเดียวกัน คือมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนๆ กัน สุดท้าย มันก็ตายก็เน่าไป กลับไปเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเข้าใจที่จิตตัวเดียวจะเข้าใจธรรมทั้งหมด

เข้าใจจิตก็เข้าใจโลก

เข้าใจจิตใจตัวเองก็จะเข้าใจชีวิตของตัวเอง เข้าใจสิ่งที่แวดล้อมชีวิตของเราอยู่ ครอบครัวเราอย่างนี้แวดล้อมเราอยู่ ที่ทำงานเรา เพื่อนร่วมงานเราแวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สังคมข้างนอกก็แวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง สังคมระหว่างประเทศก็แวดล้อมเราอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถ้าชั้นในสุดก็คือที่จิตของเราเอง เขยิบกว้างออกมาก็มีที่กายด้วย ที่จิตด้วย กว้างกว่านั้นก็เป็นครอบครัว เป็นสังคม เป็นชั้นๆ ไป เรียนจากแกนกลางของมัน เรียนรู้อยู่ที่จิตได้ง่ายที่สุดเลย ถ้าเมื่อไรเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา โลกทั้งโลกมันก็ไม่เป็นตัวเราหรอก

แนวรุกแนวรับในการภาวนา

การภาวนา ไม่ทำสมถะก็ทำวิปัสสนา มีศิลปะประจำตัว รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา จิตเราเหนื่อยเกินไปก็ไม่ตะบี้ตะบัน ไปนั่งจะให้สงบ มันไม่สงบ หาอะไรที่ผ่อนคลายให้มันเสียหน่อยหนึ่ง ทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ จะมาทำกรรมฐานต่อก็เหนื่อยกาย เหนื่อยใจหนักเข้าไปอีก เวลานี้ควรทำให้จิตใจผ่อนคลายก็ทำ เวลานี้ควรทำสมถะก็ทำ เวลานี้ควรเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา รู้จักแนวรุกแนวรับของเรา

การดูจิต

กฎของการดูจิต ข้อหนึ่ง ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีสภาวะเกิด ข้อสอง ระหว่างดูสภาวะไม่ถลำลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ข้อสาม เมื่อรู้สภาวะแล้วจิตหลงยินดีให้รู้ทัน จิตหลงยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสภาวะ สุขหรือทุกข์ก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นถึงไตรลักษณ์

ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติ ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

คำถาม:

หลวงพ่อเคยแก้จิตติดเพ่งให้ แนะนำให้ดูอิริยาบถ และสอนต่อว่าดูกายแล้วจะเห็นจิตเอง ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติมาก เห็นการขยับของกาย เพื่อบรรเทาทุกข์ของตัวมันเอง และทำงานของมันเอง ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ในชีวิตประจำวันเห็นจิตปรุงดีปรุงชั่วได้มากขึ้น เห็นสายเกิดแต่สายดับเห็นไม่ค่อยทัน ในรูปแบบเคยเห็นและพอเข้าใจแล้วว่า จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:
เมื่อกี้แนะไปแล้วไปทำอีก ทำถูกแล้ว สมาธิดีแล้ว ที่เพ่งๆ อะไรไม่ได้เพ่งอย่างแต่ก่อนแล้ว พอสมาธิเราดีดูลงในกายเลย จะเห็นกายกับจิตแยกกันได้ชัดเจนแล้ว ส่วนเรารู้สึกอยู่ร่างกายเคลื่อนไหว จิตรู้สึกอะไรอย่างนี้ เวลามีความรู้สึกอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิต ก็จะเห็นเอง มันจะเห็นขึ้นมาเอง แต่แรกๆ ก็ต้องอารมณ์ที่หยาบหน่อย ความรู้สึกที่แรงหน่อย พอเราชำนิชำนาญขึ้น แค่จิตมันไหวตัวนิดหนึ่งเราก็เห็นแล้ว ยังไม่ทันจะสุข จะทุกข์อะไรเลย แค่มันสะเทือนไหวขึ้นมาก็เห็นแล้ว ที่ทำอยู่ถูกแล้วไปทำต่อไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564
Page 5 of 6
1 2 3 4 5 6