ฝึกลดละความเห็นแก่ตัว

ฝึกความไม่เห็นแก่ตัวไว้ แล้ววันที่เราเริ่มภาวนา มันจะไม่ยาก การมาภาวนาก็คือมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจเพื่อจะปล่อยวางตัวตนลงไป ถ้าเริ่มต้นเราก็เห็นแก่ตัวแล้ว เราจะปล่อยวางตัวตนได้อย่างไร มันยากกว่าการไม่เห็นแก่ตัวอีก ไม่เห็นแก่ตัวแล้ว แล้วต้องมาภาวนาอีกให้เห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจ มันถึงจะปล่อยวางตัวตนลงไปได้ ฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมีลำดับ มีขั้น มีตอน

มรรคมีองค์ 8 คือทางสายกลาง

พระพุทธเจ้าท่านสอนปัญจวัคคีย์ กัณฑ์แรกเลย สอนธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ท่านสอนเริ่มต้นท่านก็บอกว่า มีสิ่ง 2 สิ่งที่บรรพชิตไม่ควรเอา สิ่ง 2 สิ่งที่ผู้ปฏิบัติไม่ควรเอา อันแรกก็คือการปล่อยกาย ปล่อยใจตามกิเลสไป ตามใจกิเลส เรียกว่าย่อหย่อนไป กามสุขัลลิกานุโยค กับการกดข่มบังคับทำกาย ทำใจตัวเองให้ลำบาก ท่านบอกอย่าทำ 2 อย่างนี้ จิตจะเดินในทางสายกลาง ฉะนั้นเริ่มต้นพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนทางสายกลาง แต่เริ่มต้นท่านสอนสิ่งที่ไม่ถูกเสียก่อน สิ่งที่ไม่ถูกมี 2 อย่าง คือย่อหย่อนไป กับตึงเครียดไป พอไม่ย่อหย่อน ไม่ตึงเครียดก็เข้าทางสายกลางง่าย

รูปนามทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ทำอย่างไรก็ผิดหมด จนกว่าจะกลับมาดูรูปธรรม นามธรรมทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าเห็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ สุดท้ายจิตมันก็จะรู้เลย รูปธรรมทั้งหลายเสมอกันหมดเลย จะรูปดี รูปเลว รูปหยาบ รูปละเอียด รูปสวย รูปไม่สวยอะไรนี่เสมอกันหมดเลยด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายกระทั่งตัวจิตใจของเรา จะจิตดีหรือจิตเลว จะจิตสุขหรือจิตทุกข์ มันก็เกิดและดับเสมอกัน ตรงที่เราสามารถเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน รูปธรรมทั้งหลายเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนี้ จิตถึงจะหมดการดิ้นรน หมดความหิวโหย จิตตัวนั้นจะหมดแรงดิ้น พอจิตหยุดความปรุงแต่ง หยุดการดิ้นรน จิตจะเริ่มเข้ากระบวนการที่จะตัดสินความรู้ มรรคผลจะเกิดขึ้น มันก็มีกระบวนการของมัน

หัดหมายรู้ให้ถูกต้อง

ถ้าหมายรู้ผิดก็คิดผิด ก็เกิดมิจฉาทิฏฐิ เกิดความเห็นผิด ถ้าหมายรู้ถูก หมายรู้กาย หมายรู้ใจของเราเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต่อไปเวลาคิดถึงกาย คิดถึงจิต มันก็จะคิดถึงในมุมของไตรลักษณ์ ในที่สุดก็เกิดสัมมาทิฏฐิ เกิดความเห็นถูก พ้นจากความเห็นผิด ฉะนั้นเราต้องฝึก อย่างทีแรกเราฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกสติให้ว่องไว พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ก็ฝึกที่จะหมายรู้ สติระลึกรู้กายก็หมายรู้ มองกาย หมายรู้ก็คือเป็นมุมมองของจิต มองกายในมุมของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจิตมันมองเอง ทีแรกจงใจมอง ต่อมาจิตมันมองได้เอง ตรงที่จิตมองได้เองนี่เราเดินปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว

มีฉันทะในการภาวนา

หลวงพ่อบอกทางปฏิบัติให้แล้ว ที่เหลืออยู่ที่พวกเราต้องทำด้วยตัวเอง ถ้าเรามีฉันทะที่จะปฏิบัติ พึงพอใจที่ได้ปฏิบัติ เราจะปฏิบัติ แต่ถ้าเรามีแต่ตัณหา อยากจะโน้นอยากนี้ อยากได้มรรคได้ผล ไม่ได้หรอก มรรคผลไม่ได้เกิดจากตัณหา มรรคผลเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา การอบรมศีล สมาธิ ปัญญา แต่ถ้าเราพึงพอใจอย่างนี้ ได้ยินหลวงพ่อเล่าเรื่องการปฏิบัติ แหม ใจมันฮึกเหิม อยากปฏิบัติแล้ว ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องได้โน้นได้นี้ ใจมีความสุข มีความพอใจ ทีแรกไม่ค่อยฉันทะเท่าไหร่หรอก แต่ภาวนาไปช่วงหนึ่งมันเริ่มเห็นผลของการปฏิบัติ มันจะมีฉันทะขึ้นมา

วิเวก 3

วิเวกคือการฝึกอยู่ในความสงบ มี 3 อัน มีกายวิเวก คือไม่คลุกคลี คลุกคลีเท่าที่จำเป็น ยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น มีจิตตวิเวก อยู่กับตัวเองให้เยอะๆ เรียนรู้ตัวเองให้มาก แล้วต่อไปจะได้ผลพลอยได้อันหนึ่ง คืออุปธิวิเวก สงบจากกิเลส ถ้าเราภาวนาเป็นเราจะรู้เลย ตัวที่ทำให้จิตใจเราไม่สงบก็คือกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวอื่นเลย เราหัดภาวนา จิตเราก็สงบได้จิตตวิเวก แล้วก็ได้เห็นความจริง เวลากิเลสเกิด จิตใจมันดิ้นรน ฟุ้งซ่านวุ่นวาย พอเราเห็นอย่างนี้เรื่อยๆ เห็นบ่อยๆ ไปจะรู้เลย ศัตรูของชีวิตเราไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่โควิด

เราหลงโลกที่ว่างเปล่า

เราอยู่กับปรากฏการณ์แต่ละขณะๆ เรารู้สึกจริงจัง มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง ก็รู้สึกว่าเป็นของจริง แต่พอมันผ่านไปแล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ชีวิตเรา กระทั่งในขณะนี้ มันก็เหมือนเราฝันอยู่ หาสาระแก่นสารอะไรจริงจังไม่ได้ พอคิดว่ามันจริงจัง สภาวะที่กำลังปรากฏอยู่มันก็มามีอิทธิพลเหนือจิตใจเรา จิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แทนที่เราจะต้องรอจนวันคืนล่วงไปๆ แล้วค่อยเห็นว่าอดีตไม่มีสาระแก่นสาร เรามาฝึกอยู่กับปัจจุบัน จนเห็นว่ากระทั่งปัจจุบันนี้ก็ไม่มีสาระแก่นสารอะไรจริงจัง

เห็นทุกข์จึงละได้

กิเลสอะไรเกิดขึ้นเรารู้ทัน ตัวที่ทำให้ใจเราขาดตัวหิวนั่นเอง มันไม่เต็มมันอยากได้เยอะๆ แต่ได้ไม่เต็มมันขาดตลอดชีวิต เราภาวนาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เห็นไปมีกิเลสทีไรก็มีทุกข์ มีกิเลสทีไรก็เห็นโทษ มีกิเลสขึ้นมาก็เกิดภาระทางใจ เพราะมีกิเลสก็เกิดการกระทำกรรม กรรมนั่นล่ะคือภาระของจิต… ไปดูให้ดีกิเลสเกิดทีไรจิตก็ดิ้นรนทุกที ราคะเกิดจิตก็อยากได้ดิ้นรนอยากได้ อยากรักษาเอาไว้ โทสะเกิดจิตอยากผลักออกไป ส่วนโมหะยังดูยากใจมันหลงอะไรอย่างนี้ดูยากหน่อย เรียนราคะ โทสะให้แตกฉานก่อน เรียนของง่ายก่อน ของยากเดี๋ยวค่อยตามมา ดูลงไปมีราคะเกิดก็มีทุกข์มีภาระ มีโทสะเกิดก็มีทุกข์มีภาระของใจ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วจะเหมือนอย่างที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่ามันละได้เพราะว่าเห็นโทษ เหมือนอย่างหลวงปู่ดูลย์บอกมันละได้เพราะมันเห็นทุกข์

สู้กับตัณหาด้วยสติและปัญญา

ตัณหามีได้เพราะอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 เราไม่รู้ว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ เราคิดว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราก็เกิดความอยากให้ร่างกายมีความสุข เกิดความอยากให้ร่างกายไม่ทุกข์ เราไม่รู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ เราเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราก็เลยเกิดความอยาก อยากให้จิตมีความสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์ มีความอยากเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ จิตนี้เป็นตัวทุกข์ ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์นี่มันจะไม่เกิด ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุขมันก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันคือตัวทุกข์ ความอยากให้มันไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ ความอยากให้มันสุขก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ นี่รู้ทุกข์

ขันธ์ 5 ทั้งหมด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ร่างกายเราไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก เราเรียนรู้กายตัวเองมันก็เข้าใจกายคนอื่นด้วย ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษไม่น่าหลงไม่น่าคลั่งไคล้ คนนี้ไอดอลเรา สวยเหลือเกิน ในสายตาของผู้ปฏิบัติคือถุงหนังที่บรรจุของโสโครก ไม่ได้มีดีวิเศษอะไรนักหนาหรอก เอามายกให้ยังไม่เอาเลย ลองภาวนาไปช่วงหนึ่ง เอานางงามมายกให้ยังไม่อยากได้เลย ดูไปก็เห็นแต่ของสกปรกเราค่อยๆ ฝึกตัวเรา พอเรามีสมาธิขึ้นมาแล้วก็มาเดินปัญญาต่อ อย่างจิตเรามีราคะมาก เราก็พิจารณาปฏิกูลพิจารณาอสุภะ ราคะมันก็ดับ อย่างถ้าเรามีโทสะเราก็เจริญเมตตาไป ถ้าเรารู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของคนอื่น เราจะโกรธไม่ลงหรอก เพราะว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ ก็คือราคะ โทสะ โมหะเหมือนที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของเราเหมือนกัน ไม่ได้ดีวิเศษอะไรหรอก มันก็จะไม่เกลียดไม่ชังกัน

Page 50 of 59
1 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 58 59