ฝึกปฏิบัติได้มาก แต่ชีวิตมีปัญหา มีความเครียดและกังวล

คำถาม:

ส่งการบ้านหลวงพ่อครั้งก่อน หลวงพ่อบอกว่าใจยังไม่เป็นกลาง หลังจากนั้นในช่วงที่ผ่านมาชีวิตมีปัญหาเรื่องการต้อง work from home มีความกังวลเรื่องโควิด และต้องดูแลคุณพ่อที่ป่วยคนเดียว ทำให้เครียด ต้องไปพบจิตแพทย์ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการรักษา แต่การดูแลจิตใจตนเองในยามเจ็บป่วยครั้งนี้ ทำให้ไม่ประมาทเหมือนมีวิกฤติเป็นโอกาส และคิดว่าช่วงกักตัวอยู่บ้านเป็นการได้ฝึกปฏิบัติได้มาก มีเวลาอยู่กับตัวเอง ใจไม่ไปเกาะเกี่ยวกับเรื่องทางโลกเหมือนในยามปกติ ทำให้ทำสมาธิในรูปแบบได้มากขึ้น มีสมาธิดีขึ้น มีศีลดีขึ้น ปกติดูกายสลับกับการดูใจตัวเอง ที่ปฏิบัติมานี้ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปครับ

 

หลวงพ่อ:

เราก็ฝึกไปเรื่อยๆ ที่ฝึกอยู่มันก็ถูกแล้ว ส่วนอาการอะไรที่ต้องไปหาหมอ ก็ไปหาหมอ มันเป็นเรื่องของร่างกาย คนไทยไม่ชอบไปหาจิตแพทย์อะไรอย่างนี้ มันจำเป็น ในเรื่องภาวนาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเราก็ช่วยตัวเองได้ อยู่บ้านนั่นล่ะดีที่สุดแล้ว เป็นโอกาสจริงๆ แล้วอ่านใจของเราไปเลย ทั้งวันมีแต่ชอบ ไม่ชอบ ชอบ ไม่ชอบไปเรื่อย เดี๋ยวก็อยากอันนี้ ชอบอันนี้ก็อยากอย่างนี้ ไม่ชอบอันนี้ก็อยากอันนี้ จะเห็นใจมันก็อยากโน้นอยากนี้ไปได้ทั้งวัน มันชอบ มันไม่ชอบขึ้นมาก็มีความอยากตามหลังมา พอมีความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนของจิตใจก็เกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันใจชอบใจไม่ชอบรู้ทัน ใจเป็นกลาง พอใจเป็นกลางใจก็ไม่ได้อยากโน้นอยากนี้แล้ว ใจไม่มีความอยากใจก็ไม่มีความทุกข์

ฉะนั้นตรงนี้เราจำเป็นต้องอยู่บ้าน เราจะชอบ หรือจะไม่ชอบเราก็ต้องอยู่บ้าน ฉะนั้นมันเป็นภาวะที่ว่าจำเป็น จำยอมต้องอยู่อย่างนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ต้องอยู่บ้าน ต้องถูกขังตัวเองอยู่ เราก็ใช้ตรงนี้มาภาวนา ที่ทำอยู่ใช้ได้ ดี แล้วใจมันโมโหขึ้นมา ใจมันหงุดหงิดขึ้นมาคอยรู้ทันไว้ มันโมโห มันหงุดหงิด เพราะมันอยากให้เป็นอย่างอื่น แล้วมันไม่เป็นอย่างที่อยาก มันไม่ได้อย่างที่อยาก อย่างที่ต้องการ จิตมันก็มีความทุกข์ขึ้นมา จิตมันก็หงุดหงิดขึ้นมา เราไม่ต้องไปดูว่าที่อยากมันเป็นอย่างไร เราดูแค่ว่าจริงๆ ตอนนี้มันเป็นอย่างไร

อย่างจริงๆ ตอนนี้เราต้องดูแลพ่อ อันนี้คือความจริง แต่ว่าเราจะไปอยากว่าไม่ต้องดูแลไม่เป็นความจริง ฉะนั้นความอยากเป็นสิ่งซึ่งเราต้องการในสิ่งซึ่งมันไม่จริง มันต้องทุกข์ ถ้าเรายอมรับสิ่งซึ่งกำลังมี สิ่งซึ่งกำลังเป็น ยอมรับสภาพได้เราก็ไม่ทุกข์หรอก ทุกข์ก็ทุกข์ไม่มาก ทุกข์ก็น้อยลง ของคุณถ้าไม่ได้ธรรมะเป็นหนักกว่านี้ เครียดหนักกว่านี้อีก ยังดีว่ามีธรรมะอยู่ ยังช่วยตัวเองได้ส่วนใหญ่ ที่เหลือก็ให้หมอเขาช่วยเอา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564

เคยชินที่จะเพ่ง

คำถาม:

เมื่อปี 2562 หลวงพ่อบอกว่าภาวนายังไม่ได้หลัก ยังบังคับอยู่ ลืมตัวเอง เวลารู้สึกก็จะเพ่งเอาไว้ ก็ไปฝึกเรียนรู้ตามที่หลวงพ่อบอก ฝึกสติโดยการใช้พุทโธ และความรู้สึกที่ร่างกายเป็นเครื่องอยู่ ช่วงโควิดมีเวลาได้ฝึกทำรูปแบบวันละหลายชั่วโมง ไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ชั่วโมง เริ่มเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอก เห็นจิตตั้งมั่น จิตหลงคิด จิตเพ่ง จงใจ จิตแช่อยู่กับอารมณ์ ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพื่อการพัฒนาต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ดีขึ้นแล้ว แต่ที่เคยชินจะเพ่งมันก็ยังมีบ้าง มันไม่หมดทีเดียว เราก็ไม่ได้ว่าต้องหมด เพียงแต่เพ่งแล้วรู้ว่าเพ่ง ไม่ต้องพยายามแก้ไขหรอก จิตไหลไปคิดรู้ว่าจิตไหลไปคิด เราทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่ง แล้วเรารู้ทันการทำงานของจิตใจไปเรื่อยๆ จิตมีกำลังมากขึ้นแล้ว ดีแล้วไปทำต่อ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564

วิธีภาวนาที่เหมาะกับวัย 85 ปี

คำถาม:

ปกติโยมจะสวดมนต์ ทำสมาธิ ฟังธรรมบรรยายก่อนนอน แต่ก็ยังมีปัญหานอนไม่หลับ หมอให้ยาคลายเครียดอ่อนๆ มาให้ทาน ส่วนทางด้านจิตใจโยมคิดว่าไม่มีความกังวลใดๆ กราบขอท่านพระอาจารย์เมตตาแนะนำวิธีที่เหมาะกับวัย 85 ปีของโยมด้วยเจ้าค่ะ

 

หลวงพ่อ:

โยม 85 ปีแล้วหรือดูแล้วไม่นึกว่าถึง 80 ปี คนภาวนากับคนไม่ภาวนา มันไม่เหมือนกันนะ คนไม่ภาวนา 80 ปีกว่าก็ดูโทรม คนภาวนาดูผ่องใส อายุเยอะๆ ถ้ากินได้นอนได้ขับถ่ายได้ เรียกร่างกายโอเคแล้ว ที่เหลือก็เรื่องของจิตใจ เราดูลงไปในร่างกายนี้ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากทุกข์ ดูลงเรื่อยๆ เลย กายนี้ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากทุกข์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เป็นนามธรรม ก็มีแต่ความไม่เที่ยง ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล ก็เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เฝ้ารู้เฝ้าดูไป กายนี้ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากทุกข์ ส่วนจิตใจเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นไปอย่างที่ใจอยาก ใจเกิดความอยากเมื่อไร ใจก็เกิดความทุกข์เมื่อนั้น ใจไม่ได้มีความอยาก ใจก็ไม่ได้มีความทุกข์ เราเรียนรู้ร่างกายไป ร่างกายมีแต่ทุกข์ ส่วนจิตใจมีความอยากก็เกิดความทุกข์ ไม่มีความอยากมันก็ไม่ทุกข์ เราเรียนไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่โยมฝึกอยู่ใช้ได้

ส่วนเรื่องนอนไม่หลับมันเป็นธรรมชาติ มันเกิดจากสารเคมีในสมองบางตัวที่ทำให้หลับ มันไม่ทำงาน มันหมดไปอะไรอย่างนี้ ลองปรึกษาหมอดูเพิ่มสารเคมีบางตัว ไม่ใช่ยานอนหลับ กินยานอนหลับประจำไม่ดีหรอก มันมีสารอาหารบางตัวลองปรึกษาหมอดู หลวงพ่อบอกไม่ได้หรอก เดี๋ยวจะผิดกฎหมายโฆษณา ที่โยมฝึกอยู่ดีนะ ฝึกอีก แล้วสังเกตไปจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว หรือจิตใจเราหลงไปอดีต หรือจิตใจเรากังวลอะไรไหมสังเกตไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้มันก็เบา มันคลายออกไปเยอะแล้ว ดี ภาวนาไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564

เวลาเจอความทุกข์ก็จะขยันภาวนา เวลามีความสุขก็จะเผลอเพลิน

คำถาม:

ปฏิบัติมาหลายปี เวลาเจอความทุกข์ก็จะขยันภาวนา เวลามีความสุขก็จะเพลิน ระหว่างวันมีสติรู้การเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงของกายและใจ ปีนี้มีวินัยในการทำรูปแบบมากขึ้น แต่สมาธิไม่ได้ดีมาก เป็นคนขี้หงุดหงิดฟุ้งซ่าน จริงจังเรื่องงาน เห็นมานะเทียบตัวเองกับคนอื่น บางทีจิตก็คิดอกุศล พยายามฝึกตัวเองให้มีวินัย แต่พอทำงานเหนื่อยมากก็จะหลุดไปดูหนังการ์ตูน หรือชอปปิ้งให้ใจคลายขึ้น สติไม่เข้มแข็งพอก็จะเสพติดหลงเพลิน เมื่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ใจมีความสุข ก็จะพักหายใจเพิ่มพลังระหว่างวัน แต่ก็ยังมีจุดที่เพลินออกไปกับความสุข ไม่เป็นกลาง ไม่ตั้งมั่น ขอให้หลวงพ่อแนะนำเพิ่มเติมจากที่ปฏิบัติอยู่ค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนามันต้องอดทน ต้องเด็ดเดี่ยว คนในโลกส่วนใหญ่เวลาสบายมันจะเผลอเพลิน เวลาทุกข์ก็จะคิดถึงการปฏิบัติ เป็นธรรมดาของโลก แต่ว่าอย่างนั้นมันลักษณะของความประมาท เราไม่ประมาท มีวินัย วินัยจำเป็นต้องฝึก แต่ว่าทั้งวันเราทำงานเหนื่อยแล้ว เราจะไปนั่งสมาธิตอนกลางคืนมันไม่มีแรง เราทำตั้งแต่เช้าเลยตื่นให้เร็วขึ้นสักครึ่งชั่วโมง มานั่งสมาธิเดินจงกรมอะไรก็ทำไป ถ้าทำกลางคืนแล้วมันหลับก็ทำมันตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ตื่นนอนเลย หรือกลางวันกินข้าวแล้วก็เดิน เดินจงกรม เวลาจิตมันเครียดก็มีอุบายทำให้มันผ่อนคลาย อย่างเช่นดูการ์ตูน

หลวงพ่อก็เคยใช้แต่หลวงพ่อไม่ไปตามที่ที่คนเยอะๆ หลวงพ่อไม่ไปเดินศูนย์การค้า ที่ศูนย์การค้ากระแสกิเลสมันแรง มันมากระทบกระทั่งใจเราสะเทือนไปหมดเลย ยิ่งที่ไหนกลุ่มวัยรุ่นอยู่เยอะๆ หลวงพ่อจะไม่เข้าเลย อันนี้หมายถึงตอนเป็นโยม ไม่เข้าใกล้หรอก คลื่นไส้ คลื่นไส้จริงๆ ไม่ได้ว่าแกล้งขยะแขยงอะไร คือกระแสของกิเลส กระแสของความฟุ้งซ่านมันรุนแรง เราไม่ชอบ หลวงพ่อซื้อการ์ตูนมาอ่านที่บ้าน ซื้อมาอ่านเป็นเล่มๆ เมื่อก่อนมันมีอะไร ขายหัวเราะ มหาสนุกอะไรการ์ตูนพวกนี้ การ์ตูนเด็ก ดูแล้วไม่มีพิษมีภัยอะไร เดี๋ยวนี้ไม่รู้ยังอยู่หรือเปล่า ไม่ได้เห็นหนังสือมานานแล้ว

ฉะนั้นพยายามอย่าไปพักผ่อนด้วยการไปที่ที่คนเยอะๆ เลย มันสงบยาก ไปแล้วไม่ได้แรงแต่ไปแล้วเหนื่อยมากกว่าเก่าอีก หรือเดี๋ยวนี้ดูการ์ตูนอยู่ในบ้านเราก็ดูได้ แต่ต้องมีวินัยว่าจะดูกี่นาที ถ้าดูทีเป็นชั่วโมงๆ ไม่ต้องพูดเรื่องภาวนา ไม่มีเวลาแล้ว ฉะนั้นตัวสำคัญ คือความมีวินัย มีวินัยในตัวเอง ผ่อนคลายได้ จะดูการ์ตูน ดูดอกไม้ ดูต้นไม้อะไรอย่างนี้ ผ่อนคลายได้ นิดๆ หน่อยๆ พอใจผ่อนคลายแล้วภาวนา ถ้าเราอยากดีเราก็ต้องทำอย่างนี้ แต่ถ้าเราเอาเวลาไปเล่นนานเกินไป จิตใจเคยชินที่จะวุ่นวายอยู่กับโลกมันภาวนายาก ไม่มีแรงภาวนามีแต่ความสุข

อดทนนะ อดทนเข้า กว่าแต่ละท่านจะพ้นทุกข์ได้ท่านอดทนมาเยอะแล้ว ดูเจ้าชายสิทธัตถะท่านก็อดทนมาเยอะ พระโมคคัลลา พระสารีบุตร หรือครูบาอาจารย์ ลองไปดูประวัติแต่ละองค์ แต่ละท่าน สู้มาอย่างโชกโชนแล้วทั้งนั้น เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองให้มันห่างโลกไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังคลุกกับโลก ยินดีอยู่กับโลก เราก็พ้นโลกไม่ได้ ที่จริงแล้วไม่มีใครมาจับเราไว้อยู่ในโลก จิตเราไปผูกพันอยู่กับโลกเอง แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เบื้องต้นอาศัยศรัทธาก่อน เออทำไมพระพุทธเจ้า ทำไมครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะพ้นโลก ไม่อยากยุ่งกับโลก พอท่านพ้นไปแล้วดูท่านสงบ ดูท่านผ่องใส ดูท่านมีความสุข ทำอย่างไรเราจะได้อย่างท่าน

ทีแรกก็ใช้วิธีอย่างนี้ที่หลวงพ่อทำ เห็นครูบาอาจารย์ท่านหมดจดงดงาม เราเกิดศรัทธาอยากได้เป็นอย่างท่านบ้าง หรืออ่านพุทธประวัติ อ่านประวัติพระสาวก เราอยากสงบ อยากดี อยากเป็นอย่างท่านบ้าง เกิดศรัทธาขึ้นมา พอเราลงมือภาวนาเราเห็นผล ศรัทธาคราวนี้ยิ่งแน่นแฟ้นใหญ่ อย่างเราภาวนา เราเห็นความทุกข์มันสั้นลง ความทุกข์มันน้อยลง ความทุกข์มันเบาลง เรื่องอย่างนี้สมัยก่อนจะเป็นจะตาย พอภาวนาไปช่วงหนึ่งเรื่องนี้หรือ เศร้าใจนิดหน่อยเดี๋ยวก็หายแล้ว จิตใจมันมีภูมิต้านทานความทุกข์ได้เยอะขึ้นๆ พอเราเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ศรัทธาเราก็ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น เป็นศรัทธาจากการที่เราได้เจริญสติเจริญปัญญา ส่วนศรัทธาที่น้อมใจให้ศรัทธา อ่านประวัติท่านแล้วศรัทธา ศรัทธาพวกนี้ยังคลอนแคลนง่าย เราค่อยๆ ยกระดับ เบื้องต้นก็อาศัยศรัทธาก่อน เตือนตัวเองให้ภาวนาเหมือนที่ครูบาอาจารย์ทำ เหมือนที่พระพุทธเจ้าทำ ชีวิตเราจะได้ดีอย่างท่าน มีความสุขอย่างท่าน

อดทนไว้ โลกไม่มีอะไรหรอก โลกนอกจากทุกข์แล้วไม่มีอย่างอื่นหรอก เราเข้าใจเราก็จะคลายออกจากโลกได้ แต่ตอนแรกยังไม่พ้นโลก เรายังไม่เห็นหรอกว่าโลกมันทุกข์ เราเห็นแค่ว่าโลกนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง ไม่เป็นไปอย่างที่ใจอยาก เรียนรู้ตรงนี้เยอะๆ ต่อไปเจอความทุกข์มันก็ไม่ทุกข์นาน ไม่ทุกข์แรง เพราะมันเริ่มเข้าใจ โลกมันเป็นอย่างนี้ ฝึกไป พอเข้าใจโลกก็จะเข้าใจธรรม ไม่เข้าใจโลกไม่เข้าใจธรรม ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การหนีโลก สิ่งที่เรียกว่าโลกคือรูปกับนาม คือกายกับใจเรานี้ ถ้าเราเข้าใจกาย เข้าใจใจของเรา เรียกว่าเราเข้าใจโลก เข้าใจโลกเราก็จะถึงธรรม ถ้าไม่เข้าใจโลกหนีโลกอย่างเดียว ไม่มีทางได้ธรรมะหรอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564

นั่งสมาธิแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ

คำถาม:

เมื่อก่อนเดินจงกรมอย่างเดียว นั่งสมาธิไม่ได้เพราะนั่งแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ ระหว่างวันก็บริกรรมและรู้ตัวไปด้วย อาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มกลับมาลองนั่งสมาธิใหม่ ก็กลับไปเหมือนเดิม พอรู้อย่างที่มันเป็นจิตมันก็แสดงให้เห็นว่ามันทำงานของมันเอง และรู้สึกตัวว่าตัวเราไม่มี แต่ลึกๆ มันบอกว่ามีตัวเราเป็นขอบๆ ของความรู้สึก ตอนเวลาควานหาตัวเราอยู่ เห็นอยู่บ่อยๆ ว่าจิตมันดีดดิ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีที่ยึดจะอยู่ไม่ได้ รู้สึกเคว้ง รู้สึกว่าตัวเองเป็นตัณหาจริต และพื้นฐานจิตฟุ้งซ่าน จากการที่กลับมาภาวนาต่อเนืองได้ประมาณ 7 เดือน สังเกตได้ว่ารู้สึกตัวได้บ่อยขึ้น รู้อย่างที่มันเป็นพอได้ สติพอจะเริ่มมี แต่สมาธิไม่ดี ทำให้ความสงบไม่ค่อยเกิด อยากถามหลวงพ่อว่า ที่ดูมานี้ถูกไหมคะ

 

หลวงพ่อ :

ถูก แต่ว่าอย่าทิ้งการนั่งสมาธิต้องนั่งด้วย นั่งแล้วก็ที่มันไปเป็นมิจฉา เพราะเราไปเพ่งมัน ไปเพ่งจนจิตมันซึม โมหะมันแทรก เรานั่งไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว นั่งไปสบายๆ เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายมันหายใจใจเราเป็นคนดู ฝึกเรื่อยๆ สมาธิมันจะได้เข้มแข็งขึ้น ตอนนี้สมาธิมันยังไม่พอ ที่ฝึกอยู่ถูกแล้ว แต่สมาธิมันไม่พอ เราจะต้องฝึกสมาธิให้ได้ในทุกอิริยาบถ เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาเราจะตาย เราจะอยู่ในอิริยาบถอะไร บางคนตายในอิริยาบถเดินก็มี เดินๆ ข้ามถนนรถชนเปรี้ยงตายอยู่กลางอากาศเลย อย่างนั้นก็มี บางคนก็นอนตาย บางคนก็นั่งตาย

ฉะนั้นเราพยายามฝึกให้ได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ดีเฉพาะตอนเดิน ถ้าดีเฉพาะตอนเดินแล้ววันหนึ่งป่วยเดินไม่ได้ เราจะลำบาก ต้องฝึก แล้วใน 4 อิริยาบถ อิริยาบถที่ยากที่สุดคืออิริยาบถนอน เพราะนอนภาวนาเดี๋ยวก็หลับ อันนี้เอาไว้ฝึกทีหลัง หรือไม่ก็ไว้ฝึกตอนจะนอนจริงๆ ก็แล้วไป บางคนก็ใช้วิธีเปิดซีดีหลวงพ่อแล้วก็นอนฟังไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้หลับ อันนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเวลาจะปฏิบัตินั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วก็จะลงไปนอน ขี้เกียจเดินแล้วลงไปนอน แล้วอ้างว่าปฏิบัติอันนี้ไม่ใช่อันนั้นขี้เกียจ ฉะนั้นเราพยายามฝึกให้ได้ในทุกอิริยาบถ อย่างหลวงพ่อกลางคืนบางทีก็นอน นอนแล้วก็ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ อยู่ได้หลายๆ ชั่วโมงก็ไม่หลับหรอก พอจะหลับเราก็คลายสมาธิออกก็จะหลับ ที่ฝึกดีขึ้นแต่สมาธิยังไม่พอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กรกฎาคม 2564

การดูจิตดูใจ

การภาวนาเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้ที่จิตเป็นหนทางปฏิบัติที่ลัดสั้น แต่บางคนไม่มีกำลังที่จะตัดตรงเข้ามาเรียนจิต ก็เรียนทางกายไปก่อน หัดรู้กายไปก่อน รู้กายถูกต้อง ชำนิชำนาญต่อไปจิตก็มีกำลังขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา มันก็จะค่อยมาดูจิตได้ทีหลัง ฉะนั้นดูกายต่อไปก็เห็นจิต แต่ถ้าดูจิตได้ก็ดูไปเลย มิฉะนั้นเสียเวลา อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเอาเอง เป็นคำสอนที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา หลวงปู่มั่นบอกว่าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ทำสมถะ ท่านสอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด คือตัดตรงเข้ามาที่นี่เลย คนเราจะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์ก็เพราะจิต จะเกิดในภพภูมิอะไรก็เพราะจิต ฉะนั้นตัดตรงเข้ามาที่จิต ตรงนี้ก็เร็ว ไปได้เร็ว

วัฏฏะไม่มีความแน่นอน

เวลาที่เราเดินทางไกลในสังสารวัฏเราก็มีพ่อ มีแม่ มีสามี มีภรรยา มีลูก มีหลาน แต่ละภพแต่ละชาติก็มีเยอะแยะไปหมด ชาตินี้คนนี้มาเป็นสามี ชาติหน้าคนอื่นก็มาเป็นอะไรอย่างนี้ วัฏฏะไม่มีความแน่นอน หรือมาเป็นพ่อแม่เป็นลูกหลานกัน วัฏฏะที่ยาวนานนั้น พระพุทธเจ้าท่านถึงขนาดบอกว่า คนในโลกที่มาเจอกัน ที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกัน ไม่เคยเป็นลูกเป็นอะไรอย่างนี้ หาแทบไม่ได้เลย สังสารวัฏไม่ได้มีอะไรน่าชื่นใจเลย แล้วก็ไม่มีอะไรยั่งยืนมั่นคงเลย มันเป็นอย่างนี้มาตลอด ถ้าเราเข้าใจเราก็ไม่ยึดถือมันมาก

การเรียนรู้จิตทำได้ 2 แบบ

การเรียนรู้จิต รู้เท่าทันจิต ดูได้ 2 แบบ อันหนึ่งรู้จิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ อย่างเช่น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ ความโลภ ความโกรธมันเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่มาประกอบจิต จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ เราเห็นจิตและความรู้สึกต่างๆ มันเกิดขึ้น มันเกิดอยู่ด้วยกัน เห็นจิตมันเกิดดับผ่านเจตสิก อีกอย่างหนึ่ง เราเห็นพฤติกรรมของจิต จิตเดี๋ยวก็มีพฤติกรรมไปดู เป็นผู้ดู เดี๋ยวก็เป็นผู้ฟัง เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้ลิ้มรส เดี๋ยวเป็นผู้รู้สัมผัสทางร่างกาย เดี๋ยวเป็นผู้คิดนึกทางใจ เดี๋ยวเป็นผู้เพ่งทางใจ หรือบางทีก็เป็นผู้รู้ขึ้นมา เราจะเห็นจิตมันทำงานอยู่ทางอายตนะทั้ง 6

ธรรมะเป็นเรื่องของเหตุกับผล

เริ่มจากอินทรียสังวร ถ้าอินทรียสังวรดี สุจริต 3 จะเกิด สุจริต 3 ดี การเจริญสติปัฏฐานจะสมบูรณ์ขึ้นมา การเจริญสติปัฏฐานที่สมบูรณ์จะทำให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ขึ้นมา แล้วโพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ขึ้นมา มรรคผลจะเกิดนิพพานจะปรากฏ เป็นเรื่องของเหตุกับผล ถ้าทำเหตุอย่างนี้จะมีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้จึงมีผลอย่างนี้ ธรรมะทั้งหลายของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างนี้ เป็นเหตุกับผลที่สืบเนื่องกันไป เป็นขั้นๆๆ สืบเนื่องกันไป เราค่อยๆ ภาวนาเดี๋ยวเราก็เข้าใจ

เหนือโลกไม่ใช่หนีโลก

ระหว่างหนีโลกกับเหนือโลกไม่เหมือนกัน หนีโลกนี่เหมือนคนอ่อนแอ แพ้ผัสสะ แสวงหาแต่ความสุขความสบายอะไรอย่างนี้ ไม่อยากกระทบอารมณ์ พวกหนีโลกนี่ไม่สามารถพ้นโลกได้ มันเอาแต่หนี มันก็จะหนีจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ในขณะที่พวกที่เรียนรู้โลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือกายกับใจเรานี่ล่ะ เรียนรู้มากๆ เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ จิตมันคลายความยึดถือในกายในใจ จิตไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ ก็เรียกจิตมันพ้นโลก

Page 48 of 63
1 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 58 63