ทางสายกลาง

พอคิดถึงการปฏิบัติก็บังคับกายบังคับใจ ก็ผิดอยู่ 2 ด้าน หย่อนไปกับตึงไป มันเลยไม่เข้าทางสายกลางเสียที ทางสายกลางคือมรรคมีองค์ 8 ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป มรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถือศีลหย่อนเกินไปก็ใช้ไม่ได้ ถือศีลแล้วก็ตึงเกินไปก็ใช้ไม่ได้ สมาธิหย่อนไปก็ไม่ได้ ตึงไปก็ไม่ได้ เจริญปัญญาหย่อนไปก็ไม่ได้ ตึงไปก็ไม่ได้ ต้องทางสายกลางจริงๆ

ความจริงทางโลกกับความจริงทางธรรม

โลกก็สอนธรรมะเราสอนให้เราเห็น โลกนี้ไม่สมบูรณ์หรอกมีทุกข์ตลอดเวลา เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รักที่ไม่พอใจ ร่างกายเราเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตใจเราเองเที่ยวหาความสุขมา ความสุขก็ไม่ยั่งยืน เกลียดความทุกข์ไล่มันก็ไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจความจริงในโลกุตตระ เรามีความสุขที่ไม่อิงอาศัยคนอื่น ไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น ความสุขตัวนี้ยั่งยืน ในขณะที่ความสุขในโลกนั้นไม่ยั่งยืน ฉะนั้นเราทิ้งของซึ่งไม่สำคัญ แค่อาศัยอยู่ พออยู่พอกิน พอเลี้ยงชีวิต ไม่มีภาระกับสังคมกับอะไรอย่างนี้ แค่นี้พอใจอยู่ได้แล้ว

โลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม

ชาวพุทธก็ทำหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อชุมชน พัฒนาตัวเองไป ฉะนั้นการที่เราอยู่บ้าน ทำมาหากินอยู่ด้วยความสุจริต เราได้ปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว อันนี้เป็นโลกิยธรรม ส่วนถ้าเราอยากพ้นจากโลก เราก็มาฝึกให้หนักขึ้น เข้มงวดในการรักษาศีล เข้มงวดในการฝึกสมาธิ ขยันขันแข็งในการเจริญปัญญา ถ้าเราทำได้ก็เดินไปสู่โลกุตตระ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ เป็นมรรค มรรคก็คือหนทางไปสู่ความดับสนิทแห่งทุกข์

กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง

กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ควรจะดูกายหรือดูจิตเป็นหลักไว้ ถ้าเราเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงามอะไรอย่างนี้ ไปดูกายไว้ ถ้าพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น พวกทิฏฐิจริตไปดูจิตไว้เป็นหลักเลย ทุกคนเป็นจริตผสม มีทั้งตัณหาจริตและทิฏฐิจริต ที่จะแบ่งแยกเพียวๆ เลยไม่เคยเจอ เพราะทุกคนมีทั้งตัณหาและทิฏฐิ ดูเอาตัวไหนเด่น บางคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็นมาก พวกนี้ทิฏฐิเด่น บางคนติดสุขติดสบายแล้วก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็นด้วย แต่ระหว่างเอาความสุขความสบายกับเอาความรอบรู้อะไร สนใจความสุขความสบายมากกว่า พวกนี้ไปดูกายเลย

ใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์

เอาร่างกายมาทำงาน ให้มันเกิดสิ่งที่งอกเงยขึ้นมา มีบุญ มีกุศล มีสติ มีปัญญาให้มันมากขึ้นๆ ใช้ประโยชน์จากร่างกายให้มันสมกับสิ่งที่เราได้มา ก่อนที่มันจะแตกสลายไป พยายามตั้งใจทุกวันๆ ทุกวันเราจะต้องสร้างความดีให้ได้อย่างน้อยก็อย่างหนึ่ง มีร่างกายทั้งที แทนที่เอาไปทำเหลวไหล เอามาฝึกกรรมฐานเสีย เอามาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆ ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ นี้เป็นประโยชน์ของตัวเองในปัจจุบัน แล้วพอเราเข้าใจธรรมะขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นในอนาคต

อยู่ให้เป็น ตายให้เป็น

อยู่แบบเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต ว่าไม่มีอะไรที่เราได้ทุกสิ่งทุกอย่างหรอก โลกนี้ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา อย่างเราอยากให้โควิดหมดไป ยังไม่ถึงเวลามันก็ไม่หมด ก็อยู่ไปอย่างระมัดระวัง มีสติรักษาจิตใจไม่บ้าเสียก่อน รักษาร่างกายให้ดีที่สุด เรียกอยู่เป็น พอเวลาจะตายก็ตายเป็น มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ดูไปเรื่อยๆ เห็นสติรู้ร่างกายมันทรมาน จิตมันตั้งมั่นเป็นคนรู้ ดูลงไปร่างกายที่เจ็บปวดนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสมบัติของโลกที่เรากำลังจะคืนให้โลกแล้ว จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราสั่งอะไรมันไม่ได้สักอย่างเลย แต่ทำได้แค่รู้ทันมันไป มันยินดีในภาวะอย่างนี้ มันยินร้ายในภาวะอย่างนี้ ก็รู้มันไป ในที่สุดก็รู้ทุกอย่างด้วยความเป็นกลาง ถ้าตายไปก็ไปสุคติ

สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก

สติปัฏฐานคือมีสติอยู่ในฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง ถ้าเมื่อไรไม่มีสติรู้กาย ไม่มีสติรู้ใจ เมื่อนั้นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐานเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น จิตจะเข้าถึงความสิ้นตัณหาได้ต้องทำสติปัฏฐาน ไม่มีทางเลือกทางที่สอง

ท่องเที่ยวอยู่ในกายในใจ

อาศัยช่วงของโควิดเราออกไปเที่ยวไม่ได้ ถ้าเราชำนาญในการพิจารณาร่างกาย เราก็เที่ยวอยู่ในร่างกาย ไม่ให้จิตหนีออกจากกาย ถ้าจิตเที่ยวอยู่ในร่างกายนี้ คอยรู้สึกอยู่ในกายนี้ กิเลสชั่วหยาบทั้งหลายเกิดไม่ได้ มันมีสติเที่ยวอยู่ในกาย แล้วถ้าปัญญามันเกิดมันจะเห็นว่ากายนี้ว่างเปล่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูจิตดูใจ เห็นจิตเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นจิตสร้างภพน้อยภพใหญ่ทางใจ เห็นแต่ทุกข์ ภาวนาแล้วก็จะรู้แจ้งแทงตลอด ความเกิดมีขึ้นครั้งใด ความทุกข์มีขึ้นเมื่อนั้น เกิดดี เกิดเลว หมุนเวียนอยู่ในจิตเรานี่ล่ะ เห็นอย่างนี้ต่อไปจิตมันก็รู้ว่า ภพทั้งหลายเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้

ปัจจัย 4 ของจิต

ศีลเป็นเสื้อผ้าของจิต ถ้าศีลเราดีคล้ายๆ เราแต่งตัวเรียบร้อย ไปเข้าสังคมที่ไหนก็องอาจกล้าหาญ จิตก็ต้องมีบ้านเหมือนกัน เวลาอยู่บ้านเรารู้สึกปลอดภัย จิตที่มีสมาธิมีวิหารธรรม มันจะรู้สึกปลอดภัย ไม่กลัวอะไร ร่างกายยังต้องการยารักษาโรคด้วย จิตก็ต้องการ โรคของจิตก็คือกิเลส สิ่งที่จะล้างกิเลสได้คือตัวปัญญา 

กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น ต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้

ส่งการบ้านหลวงพ่อครั้งก่อนหลวงพ่อเตือนว่า ให้ระวังเรื่องรู้ร่างกายแล้วใจถลำลงไป ตอนนี้กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น เพราะต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้ นานๆ ครั้งถึงจะรู้สึกได้ว่าร่างกายมันโปร่งๆ มีความรู้สึกเฉพาะตรงจุดที่ร่างกายสัมผัสกับลมหายใจ ฝึกแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ:

ฝึกอย่างนี้นานๆ ไป เราก็จะได้สมาธิ คือเป็นเรื่องของการทำสมถะ อย่างทีแรกเรารู้ลงไปในร่างกายทีละส่วนๆ เราก็รู้อยู่ทั้งตัว พอรู้ทั้งตัว เราหายใจไปเรื่อยๆ จิตมันก็จะมารวมอยู่ที่ปลายจมูกนี้ มันรวมอยู่ที่นี่ ดูต่อไปมันจะสว่างว่างขึ้นมา จิตก็ได้เข้าฌาน ได้อะไรไป พอจิตเราเข้าสมาธิพอสมควรแล้ว ให้ออกมาดูร่างกายไว้ ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษอย่างนี้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป อย่างนี้เราก็จะต่อไปได้ เข้าสู่การเจริญปัญญาได้ ต่อไปมันก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายมีแต่ของไม่ดี ของไม่สวย ของไม่งามเต็มไปด้วยของสกปรกอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดู ใจมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากสมาธิก็จะเริ่มค่อยๆ ก้าวไปสู่การเจริญปัญญา

เราก็เห็นร่างกายสกปรกไม่ดี ไม่งาม ใจเราไม่ชอบ เรารู้ทันใจที่ไม่ชอบ เราก็ดูกายต่อไป ต่อไปมันก็พัฒนา แทนที่จะเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เราเห็นว่าจริงๆ มันเป็นแค่วัตถุเท่านั้นเอง เป็นก้อนธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป ไม่มีของสกปรก ไม่มีของสะอาดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุเสมอกันไปหมดเลย ฉะนั้นจะทำสมาธิก่อนแล้วก็เดินไปในแนวนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าสมาธิไม่พอก็ไปดูจิตเอา ก็เห็นเดี๋ยวจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวในทางสายของสมาธิก็ดูลงมาในกายนี้เลย จนเห็นไม่มีตัวเราหรอก แต่ของคุณต้องเริ่มแต่ไม่สวยไม่งามก่อน มันไม่สวย มันไม่งามอะไรอย่างนี้ ใจมันจะมีแรงมากขึ้น แล้วค่อยดู โอ้ มันไม่สวยไม่งาม ทีแรกใจมันรังเกียจ รู้ทันใจที่รังเกียจ ต่อไปใจมันจะเป็นกลาง มันเห็นว่าร่างกายจริงๆ เป็นวัตถุ เป็นวัตถุธาตุเท่านั้นเอง ไม่มีสวย ไม่มีไม่สวย

อย่างดินนี่ไม่มีคำว่าสวย ไม่สวย น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ ไม่มีสวย ไม่สวย มันก็เป็นแค่ธาตุ แล้วถ้าจิตมันพลิกไปเห็นจิตใจทำงาน เราก็รู้ทันจิตใจที่ทำงานไป ถึงเวลาเราก็กลับมาทำสมาธิไป เดินอย่างนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำเอา ถ้าเดินโดยมีสมาธิประกอบ การภาวนามันจะมีความสุข มันจะมีความสดชื่นเป็นระยะๆ

การปฏิบัติมันเหมือนการเดินทางไกล เดินป่าเดินเขาอะไรอย่างนี้ ถ้าเราเข้าฌาน เข้าสมาธิได้ มันก็คล้ายๆ พอตกค่ำ เราก็มีน้ำให้อาบ มีฟูกให้นอน มีห้องแอร์ให้อยู่อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิใช่ไหม เดินไป ภาวนาไป เหน็ดเหนื่อยลำบาก ตกค่ำก็ซุกหัวนอนอยู่ใต้ต้นไม้ไปแบบลำบากแห้งแล้ง บางคนมันก็ต้องไปแบบนั้นยอมทนเอา คนไหนทำฌานได้ ทำสมาธิได้ก็คล้ายๆ มีที่พักที่สบาย การปฏิบัติ ไม่แห้งแล้ง สบาย แต่คนส่วนใหญ่ต้องไปด้วยความแห้งแล้ง เพราะเข้าฌานไม่เป็น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564
Page 45 of 63
1 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 63