สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก

สติปัฏฐานคือมีสติอยู่ในฐานกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานใดฐานหนึ่ง ถ้าเมื่อไรไม่มีสติรู้กาย ไม่มีสติรู้ใจ เมื่อนั้นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกสติปัฏฐานเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น จิตจะเข้าถึงความสิ้นตัณหาได้ต้องทำสติปัฏฐาน ไม่มีทางเลือกทางที่สอง

ท่องเที่ยวอยู่ในกายในใจ

อาศัยช่วงของโควิดเราออกไปเที่ยวไม่ได้ ถ้าเราชำนาญในการพิจารณาร่างกาย เราก็เที่ยวอยู่ในร่างกาย ไม่ให้จิตหนีออกจากกาย ถ้าจิตเที่ยวอยู่ในร่างกายนี้ คอยรู้สึกอยู่ในกายนี้ กิเลสชั่วหยาบทั้งหลายเกิดไม่ได้ มันมีสติเที่ยวอยู่ในกาย แล้วถ้าปัญญามันเกิดมันจะเห็นว่ากายนี้ว่างเปล่า กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูจิตดูใจ เห็นจิตเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็นจิตสร้างภพน้อยภพใหญ่ทางใจ เห็นแต่ทุกข์ ภาวนาแล้วก็จะรู้แจ้งแทงตลอด ความเกิดมีขึ้นครั้งใด ความทุกข์มีขึ้นเมื่อนั้น เกิดดี เกิดเลว หมุนเวียนอยู่ในจิตเรานี่ล่ะ เห็นอย่างนี้ต่อไปจิตมันก็รู้ว่า ภพทั้งหลายเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้

ปัจจัย 4 ของจิต

ศีลเป็นเสื้อผ้าของจิต ถ้าศีลเราดีคล้ายๆ เราแต่งตัวเรียบร้อย ไปเข้าสังคมที่ไหนก็องอาจกล้าหาญ จิตก็ต้องมีบ้านเหมือนกัน เวลาอยู่บ้านเรารู้สึกปลอดภัย จิตที่มีสมาธิมีวิหารธรรม มันจะรู้สึกปลอดภัย ไม่กลัวอะไร ร่างกายยังต้องการยารักษาโรคด้วย จิตก็ต้องการ โรคของจิตก็คือกิเลส สิ่งที่จะล้างกิเลสได้คือตัวปัญญา 

กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น ต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้

ส่งการบ้านหลวงพ่อครั้งก่อนหลวงพ่อเตือนว่า ให้ระวังเรื่องรู้ร่างกายแล้วใจถลำลงไป ตอนนี้กำลังหัดนั่งสมาธิแบบใจตั้งมั่น เพราะต้องส่งใจวิ่งไปตามร่างกายก่อนจึงจะสามารถรู้สึกทั้งตัวที่กำลังหายใจได้ นานๆ ครั้งถึงจะรู้สึกได้ว่าร่างกายมันโปร่งๆ มีความรู้สึกเฉพาะตรงจุดที่ร่างกายสัมผัสกับลมหายใจ ฝึกแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรต้องทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ:

ฝึกอย่างนี้นานๆ ไป เราก็จะได้สมาธิ คือเป็นเรื่องของการทำสมถะ อย่างทีแรกเรารู้ลงไปในร่างกายทีละส่วนๆ เราก็รู้อยู่ทั้งตัว พอรู้ทั้งตัว เราหายใจไปเรื่อยๆ จิตมันก็จะมารวมอยู่ที่ปลายจมูกนี้ มันรวมอยู่ที่นี่ ดูต่อไปมันจะสว่างว่างขึ้นมา จิตก็ได้เข้าฌาน ได้อะไรไป พอจิตเราเข้าสมาธิพอสมควรแล้ว ให้ออกมาดูร่างกายไว้ ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษอย่างนี้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป อย่างนี้เราก็จะต่อไปได้ เข้าสู่การเจริญปัญญาได้ ต่อไปมันก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก แล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายมีแต่ของไม่ดี ของไม่สวย ของไม่งามเต็มไปด้วยของสกปรกอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดู ใจมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น จากสมาธิก็จะเริ่มค่อยๆ ก้าวไปสู่การเจริญปัญญา

เราก็เห็นร่างกายสกปรกไม่ดี ไม่งาม ใจเราไม่ชอบ เรารู้ทันใจที่ไม่ชอบ เราก็ดูกายต่อไป ต่อไปมันก็พัฒนา แทนที่จะเห็นว่าไม่สวยไม่งาม เราเห็นว่าจริงๆ มันเป็นแค่วัตถุเท่านั้นเอง เป็นก้อนธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไป ไม่มีของสกปรก ไม่มีของสะอาดใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธาตุเสมอกันไปหมดเลย ฉะนั้นจะทำสมาธิก่อนแล้วก็เดินไปในแนวนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำไป แต่ถ้าสมาธิไม่พอก็ไปดูจิตเอา ก็เห็นเดี๋ยวจิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว แต่ถ้าเด็ดเดี่ยวในทางสายของสมาธิก็ดูลงมาในกายนี้เลย จนเห็นไม่มีตัวเราหรอก แต่ของคุณต้องเริ่มแต่ไม่สวยไม่งามก่อน มันไม่สวย มันไม่งามอะไรอย่างนี้ ใจมันจะมีแรงมากขึ้น แล้วค่อยดู โอ้ มันไม่สวยไม่งาม ทีแรกใจมันรังเกียจ รู้ทันใจที่รังเกียจ ต่อไปใจมันจะเป็นกลาง มันเห็นว่าร่างกายจริงๆ เป็นวัตถุ เป็นวัตถุธาตุเท่านั้นเอง ไม่มีสวย ไม่มีไม่สวย

อย่างดินนี่ไม่มีคำว่าสวย ไม่สวย น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ ไม่มีสวย ไม่สวย มันก็เป็นแค่ธาตุ แล้วถ้าจิตมันพลิกไปเห็นจิตใจทำงาน เราก็รู้ทันจิตใจที่ทำงานไป ถึงเวลาเราก็กลับมาทำสมาธิไป เดินอย่างนี้ก็ได้ ค่อยๆ ทำเอา ถ้าเดินโดยมีสมาธิประกอบ การภาวนามันจะมีความสุข มันจะมีความสดชื่นเป็นระยะๆ

การปฏิบัติมันเหมือนการเดินทางไกล เดินป่าเดินเขาอะไรอย่างนี้ ถ้าเราเข้าฌาน เข้าสมาธิได้ มันก็คล้ายๆ พอตกค่ำ เราก็มีน้ำให้อาบ มีฟูกให้นอน มีห้องแอร์ให้อยู่อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิใช่ไหม เดินไป ภาวนาไป เหน็ดเหนื่อยลำบาก ตกค่ำก็ซุกหัวนอนอยู่ใต้ต้นไม้ไปแบบลำบากแห้งแล้ง บางคนมันก็ต้องไปแบบนั้นยอมทนเอา คนไหนทำฌานได้ ทำสมาธิได้ก็คล้ายๆ มีที่พักที่สบาย การปฏิบัติ ไม่แห้งแล้ง สบาย แต่คนส่วนใหญ่ต้องไปด้วยความแห้งแล้ง เพราะเข้าฌานไม่เป็น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

พอจิตสงบ พุทโธจะหายไปจะเหลือแต่ลมหายใจแผ่วๆ เมื่อจิตสงบมากๆ หรือจิตหลงไปคิด จะถอนลมหายใจออกยาวๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ

ฝึกปฏิบัติโดยใช้หลักวิหารธรรมลมหายใจเข้า พุทออกโธครับ เคยส่งการบ้านเมื่อต้นปี 2562 พ่อแม่ครูอาจารย์ให้กลับมาทำสมาธิเพิ่มขึ้นอีก กระผมได้กลับมาปฏิบัติถึงปัจจุบันครับ พอนั่งจิตสงบ พุทโธจะหายไปจะเหลือแต่ลมหายใจแผ่วๆ เมื่อจิตสงบมากๆ หรือจิตหลงไปคิด กระผมจะถอนลมหายใจออกยาวๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ ขอคำแนะนำเพิ่มเติมครับ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนาถูกแล้ว พอจิตเรามีกำลัง เราก็เอาจิตที่มีกำลังแล้ว มีสมาธิแล้วไปเดินปัญญา ระลึกลงในร่างกาย ตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ไล่ขึ้นไล่ลง คอยดูไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ดูแบบพรวดพราด ดูหัวทีเดียวถึงเท้าอะไรอย่างนี้ เร็วไป ค่อยๆ สังเกตไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละส่วนๆ นี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ส่วนจิตใจมันจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร มันจะเห็นเอง

สมาธิดี ทำต่อ สมาธิไม่ทิ้ง เดินไปด้วยการใช้สมาธิอย่างนี้ การปฏิบัติเราจะไม่แห้งแล้ง มันจะปฏิบัติไป มีความสุข มีความสงบไปตลอดสายของการปฏิบัติ มีจิตที่ทรงสมาธิอยู่ นี้พอจิตเราสงบตั้งมั่น ดีแล้ว พักผ่อนพอสมควรแล้ว ไม่เกียจคร้าน ออกมาดูร่างกายนี้ ทำไมหลวงพ่อไม่บอกไปดูจิต ถ้าจิตสงบแล้วมันไม่ค่อยมีอะไรให้ดู มันว่างๆ นิ่งๆ ไป ออกมาดูกาย แต่ถ้าจิตมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร เราเห็น เราก็ดูจิตไปเลย แต่ถ้าจิตมันเฉยๆ มาดูที่กาย ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา คอยดูไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ภาวนาเก่ง ภาวนาได้ดีเชียวล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

ตอนนี้เห็นกิเลสตัวเล็กๆ บางตัวก็ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมี และเห็นจิตที่ถูกบีบคั้นอยู่บ่อยๆ

2 ปีก่อน หลวงพ่อบอกดิฉันว่าจิตฟุ้งซ่าน ให้บริกรรมช่วย ตอนนี้ดิฉันเห็นกิเลสตัวเล็กๆ มากขึ้นมาก บางตัวก็ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมี เห็นจิตที่ถูกบีบคั้นอยู่บ่อยๆ ขอการบ้านหลวงพ่อต่อค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ทำต่อไป ทำแล้วเราเห็นกิเลสเรา เรามีพัฒนาการแล้ว ต่อไปเราก็จะสังเกตเวลากิเลสเกิด จิตบางทีก็มีโทสะแทรก เราไม่ชอบกิเลสอะไรอย่างนี้ ให้รู้ทัน นึกออกไหม บางทีเห็นกิเลสแล้วไม่ชอบมัน มันไม่เป็นกลาง ให้รู้ทันไปว่าตอนนี้ไม่ชอบแล้ว ตอนนี้ไม่เป็นกลางแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่ดีที่หลวงพ่อบอกว่ามันสงบ มันตั้งมั่น มันเป็นกลาง จุดสำคัญต้องเป็นกลางด้วย ตั้งมั่นอย่างเดียวแต่ไม่เป็นกลาง ยังไม่ดีพอ

ฉะนั้นอย่างเราตั้งมั่น เราก็จะเริ่มเห็นสภาวะ อย่างเห็นกิเลสเยอะแยะเลย แต่ใจมันไม่ชอบ ใจมันไม่เป็นกลาง ให้รู้ตรงที่ใจไม่เป็นกลาง พอใจเป็นกลาง เราจะเดินปัญญาต่อได้ง่ายๆ เลย กิเลสจะมาหรือกิเลสจะไป เราไม่เกลียด เราไม่ดีใจ เราไม่เสียใจ เราก็เห็นแค่ว่าสภาวะบางอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เราไม่หลงดีใจ เราไม่หลงเสียใจกับมัน ค่อยๆ ดูจนมันเป็นกลาง แต่ความเป็นกลางอย่าไปแต่งขึ้นมา อย่าไปทำมันขึ้นมา ให้รู้ตรงที่มันชอบ ตรงที่มันไม่ชอบแล้วมันเป็นกลางของมันเอง ตรงที่เราไปจงใจให้เป็นกลาง อันนั้นกลางปลอม ใช้ไม่ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

การภาวนาในรูปแบบ ใช้การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่มักไม่สงบตั้งมั่น

ส่งการบ้านครั้งแรก ปฏิบัติมา 2 ปีครึ่ง ในชีวิตประจำวันใช้การบริกรรมพุทโธ สลับกับ ดูร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกตัวทุกวัน แต่ไม่ต่อเนื่องทั้งวัน ต้องคอยเตือนตัวเองให้รู้สึกตัวเป็นระยะๆ ในรูปแบบ ใช้การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ แต่มักไม่สงบตั้งมั่น กราบขอหลวงพ่อช่วยชี้แนะข้อผิดพลาดและวิธีปฏิบัติต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เราภาวนาไปเรื่อยๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ไม่สำคัญหรอก ให้ได้ลงมือปฏิบัติสม่ำเสมอเท่านั้นล่ะ เดี๋ยวความสงบก็เป็นของแถมมาเอง ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ดี แต่ขณะนี้จิตออกนอกนิดหน่อย รู้สึกไหม มาตั้งใจฟังหลวงพ่อ จิตมันออกไปข้างนอก ลองหายใจสิ อย่าไปยุ่งกับจิต หายใจเฉยๆ อย่าไปมองมัน หายใจเฉยๆ รู้สึกไหม จิตมันกลับเข้ามาแล้ว นี่เราคอยรู้อย่างนี้ จิตเราตั้งมั่นอยู่ เรารู้ แล้วมันออกนี่ เราจะรู้ ใช้ได้ อย่างนี้ดี แต่อย่าให้มันลอยๆ ว่างๆ อยู่ข้างนอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

พูดผิด จำไม่ค่อยได้เหมือนคนความจำเสื่อม รำคาญใจ

ภาวนาดูกายเคลื่อนไหว ชัดบ้าง หลงบ้าง เวลาใช้พุทโธ ไม่ถึง 6 ครั้ง ก็รู้สึกมีอะไรบางอย่าง พุทโธหาย บางทีหลงไปคิด รู้สึกตัวก็กลับมาพุทโธ ปัญหาคือเมื่อต้องพูดคุยที่จะเอ่ยชื่อบุคคล สถานที่ ก็จะพูดผิด เหมือนคนความจำเสื่อม รำคาญใจค่ะ

 

หลวงพ่อ:

อันนั้นเพราะจิตเราไม่สนใจ จิตเราไม่ได้สนใจ มันก็ไม่จำไว้ นี้ถ้ามีหน้าที่ต้องจำ เราก็พยายามจำ แต่มันมีอีกอย่างหนึ่ง คือความชราของสมอง ความแก่ของเรา บางทีมันก็นึกไม่ออก มันเป็นเรื่องธรรมดา บางทีก็นึกออก บางทีก็นึกไม่ออก เป็นเรื่องปกติ

แต่ถ้าเราภาวนาแล้ว โน่นก็ไม่จำ นี่ก็ไม่จำ อันนั้นจิตมันติดสมาธิ ติดความสุข ความสงบเฉยๆ ฉะนั้นถ้าเรามีหน้าที่ต้องจำ เราก็ใช้สติให้แรงขึ้นตรงนั้น สมมติเราจะวางถ้วยอย่างนี้ ทำความรู้สึกวาง เราจะไม่ลืมแล้ว แต่ถ้าเราดูแต่จิต วางไปอย่างนี้ แล้วไปวางไว้ไหนก็ไม่รู้ นึกออกไหม ฉะนั้นเวลาจะอยู่กับโลก เพิ่มสติ หมายถึงสติที่อยู่กับโลก จะขยับเขยื้อนจะทำอะไร คอยรู้สึก เอาของไปวางตรงนี้ รู้สึกอะไรนี้ ไม่ใช่ดูแต่จิต ดูแต่จิตเดี๋ยวลืมโลกไปหมดเลย ที่ภาวนาใช้ได้ๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

ภาวนารู้สภาวะ เห็นความคิดก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์

ผมภาวนาในรูปแบบด้วยการเดินจงกรม สวดมนต์เป็นประจำและนั่งสมาธิภาวนาเป็นบางครั้ง การเดินมีเวทนามากทำให้เดินได้น้อยลง การภาวนาระหว่างวันใช้ภาวนาพุทโธเป็นหลัก เห็นจิตหลงไปคิดบ่อยๆ บางครั้งเห็นความคิดลอยมาเอง แวบเดียว และในความคิดเหล่านั้นก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ภาวะภายในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์ ไม่ทราบว่าที่ภาวนาอยู่มีข้อผิดพลาดประการใดครับ

 

หลวงพ่อ:

เวลาที่เรารู้สภาวะแล้วไม่ทุกข์นี่มีหลายแบบ อันหนึ่งจิตตั้งมั่นเป็นกลางจริงๆ เห็นทุกอย่างมาแล้วก็ไป ใจไม่ทุกข์ อีกอย่างหนึ่งคือใจมันซื่อบื้อ ใจมันเฉยๆ มันไปค้างอยู่ในอารมณ์เฉยๆ อย่าให้ค้างอยู่ในความเฉยๆ อย่างขณะนี้จิตมันนิ่งๆ อยู่ในความเฉยๆ รู้สึกไหม นี่ถ้าเราเห็น เราทำอย่างนี้ คนด่าเรา เราก็เฉยๆ เกิดอะไรขึ้น เราก็เฉยๆ เราไปทำจิตให้มันเฉยๆ อย่าไปบังคับจิตให้มันนิ่ง ให้จิตมันเคลื่อน ให้มันเป็นธรรมชาติจริงๆ

ฉะนั้นถ้าเราประคองจิตไว้อย่างนี้ มันเฉยๆ ตรงที่เราแต่งจิตขึ้นมาให้เฉยๆ ตรงนี้บางทีมันเกิดจากการหนีทุกข์ ชีวิตอาจจะทุกข์เยอะแล้วก็มาแต่งให้มันเฉยๆ อย่างนี้ รู้สึกว่ามันไม่ทุกข์ดี มันเฉยๆ มันไม่ทุกข์ สู้มัน ถอยออกมา พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้เราหนีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่ตะบี้ตะบันรู้ บางช่วงเราเหนื่อยเกินไป เราก็พักผ่อน ไหว้พระสวดมนต์อะไรต่ออะไรไป นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้จิตผ่อนคลาย ไม่ใช่เพื่อหนีทุกข์ ฝึกไปอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ถอยออกมา กลับมาอยู่กับโลกนี้ พอเราพักผ่อน สงบ พักผ่อนพอแล้ว เรากลับเข้ามารู้กายรู้ใจ แล้วก็เดินปัญญาต่อ อย่างนี้เราจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564

ปฏิบัติในรูปแบบสม่ำเสมอแต่ยังฟุ้งซ่าน การปฏิบัติระหว่างวันสติหลุดจนโกรธมาก ดูจิตที่หลงไปคิดจริงจังไม่ทัน

ปฏิบัติในรูปแบบสม่ำเสมอแต่ยังฟุ้งซ่าน การปฏิบัติระหว่างวันสติหลุดจนโกรธมาก ดูจิตมัวตรงๆ ได้นานๆ ครั้ง ร่วมกับดูจิตฟุ้งซ่านหลังรู้ว่าไหลไปเบาๆ เอื่อยๆ ส่วนจิตที่หลงไปคิดจริงจัง ดูไม่ทันค่ะ ขอหลวงพ่อชี้แนะสิ่งที่ต้องปรับปรุง

 

หลวงพ่อ:

คือถ้ามันจำเป็นต้องคิด คิดเรื่องทำมาหากิน คิดเรื่องแก้ไขปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัวอะไร มันจำเป็นต้องคิด ก็คิดไปเถอะ แต่เราไม่หาขยะมาให้จิต ทุกวันนี้ขยะเต็มไปหมดเลย เปิดอินเทอร์เน็ตมาก็เจอแล้ว ขยะคือข้อมูลขยะทั้งหลาย ข้อมูลที่เห็นแล้วจิตเศร้าหมอง อย่าไปดูมัน ดูเท่าที่จำเป็น นี้พอเราไปรับข่าวสารข้อมูลที่ทำให้จิตเศร้าหมองมากอะไรนี่ ใจเราก็เดือดร้อนรำคาญ โทสะก็ครอบเรา เราก็ไม่มีกำลังหรอก

เวลานี้โรคระบาดรุนแรง บ้านเมืองวิกฤต ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองวิกฤต เป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของบ้านเมือง ผู้คนวุ่นวาย บางคนวุ่นวาย เจตนาแกล้งให้วุ่นวาย มีผลประโยชน์แอบแฝง บางคนแตกตื่นแล้ววุ่นวาย บางคนก็มีกิเลสอย่างอื่น เช่น อยากโอ้อวด อยากแสดงความคิดความเห็นอะไรอย่างนี้ พวกนี้มันช่วยกันเพิ่มข้อมูลขยะขึ้นมาเต็มไปหมดเลย ข้อมูลขยะนี้ยิ่งเราเสพมาก ใจเรายิ่งเดือดร้อน โทสะขึ้นทั้งวันเลย ดูนี่ก็โทสะขึ้นๆ พวกที่เกลียดนายกฯ ไปอ่านข่าวคนชมนายกฯ โทสะขึ้น เกลียดนายกฯ ไปเห็นข่าวด่านายกฯ ก็ดีใจ ราคะขึ้น เกิดวิหิงสาวิตก มุ่งคิดร้ายด้วยโมหะอะไรอย่างนี้ คิดร้ายด้วยราคะ คิดร้ายด้วยโทสะอะไรนี่ ใจเราวนเวียนอยู่ในเรื่องมิจฉาสังกัปปะ คิดก็คิดไปด้วยอำนาจของราคะ คิดไปด้วยอำนาจของโทสะ คิดไปด้วยอำนาจของโมหะ ไปไม่รอดหรอก ภาวนาไม่ได้

ฉะนั้นเลี่ยงข้อมูลขยะ ดูข่าวเท่าที่จำเป็น จะรักษาตัว ป้องกันตัว ป้องกันครอบครัวอย่างไร จะทำมาหากินอย่างไร ดูพวกนี้พอแล้ว ข่าวที่เขาด่ากันไปด่ากันมา เสียเวลา คนอื่นเขามีกิเลส เราห้ามเขาไม่ได้หรอก เราก็ภาวนาของเรา รักษาตัวของเราเอาไว้ อย่าให้เป็นบ้าเสียก่อนที่ โควิดจะหาย หลายคนเป็นบ้าไปแล้ว ยังไม่ทันจะเป็นโควิด เป็นบ้าไปแล้ว

ของหนูไม่มีอะไรหรอก ของหนูใจมันฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเราก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้ใจฟุ้งซ่านเสีย เลี่ยงให้มากที่สุด ก็จะช่วยให้เราสบายขึ้น วันๆ แทนที่จะเปิดอินเทอร์เน็ตไปนั่งดูเขาด่ากัน ก็เปิดฟังหลวงพ่อเทศน์ไป กิเลสไม่เกิดหรอก แต่บางทีก็ขัดกิเลสเหมือนกัน ฟังแล้วกิเลสไม่อยากฟัง ของหนูไปดู ลดละเรื่องข้อมูลไม่ดีทั้งหลาย ตั้งอกตั้งใจภาวนา ช่วงโควิดเป็นช่วงที่ให้โอกาสกับนักปฏิบัติ เรามีผัสสะที่ไม่ดี เรามีความทุกข์ เรามีความเดือดร้อน อย่างทำมาหากินยากอะไรอย่างนี้ ช่วงเวลาที่ชีวิตเดือดร้อนเป็นนาทีทองของการปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติเป็น ถ้าปฏิบัติไม่เป็น เป็นช่วงเวลาที่ตกนรก ตอนนี้ตกนรกกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564
Page 41 of 59
1 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 59