ดูจิตได้มากกว่าดูกาย เดินปัญญาได้แต่ไม่มาก ตามเห็นกิเลส อารมณ์ และความคิดได้บ้าง แต่ยังหลงอยู่

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบเกือบทุกวันด้วยการเดินจงกรม และดูลมหายใจได้ 20 – 30 นาทีต่อวัน ดูจิตได้มากกว่าดูกาย เดินปัญญาได้แต่ไม่มาก ตามเห็นกิเลส อารมณ์ และความคิดได้บ้าง แต่ยังหลงอยู่ ขอหลวงพ่อแนะนำแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ดูไปเลย ใจเราไม่ค่อยมีความสุข โทสะมันแทรกเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นใจมันจะหงุดหงิดๆๆ ไปเรื่อยๆ ให้เรารู้ทันไป ใจมันหงุดหงิดขึ้นมาเรารู้ ใจมันสงบขึ้นมาเรารู้ เห็นกิเลสนั่นล่ะดีที่สุด การภาวนาถ้าเราไม่เห็นอย่างอื่น เห็นกิเลสที่มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ในใจเรา ดีที่สุดแล้ว เพราะศัตรูของเราจริงๆ ก็คือกิเลส เวลาจะแตกหักลงไป ก็คือแตกหักกับกิเลส ทำลายกิเลสคือตัวอวิชชา ตัวโมหะ ตอนนี้โมหะเรายังเยอะอยู่ ใจมันยังฟุ้ง ใจมันยังหลง แล้วก็ประกอบด้วยโทสะเก่ง หงุดหงิดง่ายอะไรอย่างนี้ เราก็คอยรู้เอาๆ เราจะเห็นว่ากิเลสแต่ละตัวมันมาแล้วมันก็ไป มาแล้วก็ไป ห้ามมันก็ไม่ได้ ควบคุมมันก็ไม่ได้ อย่างใจจะหลงห้ามไม่ได้ แต่อย่าหลงนานเท่านั้น ใจมันหลงแล้วก็รู้ ใจมันหลงแล้วรู้ไวๆ เท่านั้น หรือใจหงุดหงิดแล้วก็รู้ ใจหงุดหงิดแล้วก็รู้ รู้บ่อยๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ได้ศีลเราก็จะดี สมาธิก็จะดี ปัญญามันก็จะเกิด คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ รู้ทันกิเลส รู้บ่อยๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

บางวันก็รู้แต่เหมือนไม่รู้อะไร ก็ตามรู้ไปตามที่มันเป็น ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติด้วยครับ

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบโดยนั่งรู้สึกร่างกายหายใจเข้าออกทุกเช้า – เย็นรอบละ 1 ชั่วโมง มีสติมากขึ้น หลงแล้วรู้ เห็นกาย จิต เวทนาอยู่คนละส่วนกัน เห็นร่างกายพยายามขยับหนีเวทนาบ่อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ใช้การรู้สึกตัว และตามดูร่างกายหรือจิต เพ่งน้อยลง ใจเป็นธรรมดามากขึ้น เห็นอนิจจังและอนัตตาได้เนืองๆ เห็นกิเลสบ้าง ช่วงนี้เห็นราคะมากขึ้น จากเดิมที่เห็นโทสะ บางวันก็รู้แต่เหมือนไม่รู้อะไร ก็ตามรู้ไปตามที่มันเป็น ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:

ที่เล่ามาก็ใช้ได้แล้ว แต่เราสังเกตให้ดีเวลาเราภาวนา บางทีเหมือนเดินปัญญาอยู่ แต่จิตมันไม่ถึงฐานทีเดียวหรอก จิตมันยังอยู่ข้างนอกๆ อยู่ ฉะนั้นเราทำความสงบเข้ามา หายใจไม่ดึงจิต หายใจเฉยๆ ลองถอยออกมาซิ ตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกันรู้สึกไหม เมื่อกี้ใจมันออกข้างนอก มันกว้างๆ มันไม่ถึงฐานหรอก มันดูไม่ถึงจิตหรอก จิตมันต้องตั้งมั่นอย่างนี้ มันดูเข้ามาถึงจิตถึงใจจริงๆ มันถึงจะเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นอย่างนั้นมันก็เหมือนดูหนังเฉยๆ ใจมันจะเฉยๆ มันไม่ได้ซาบซึ้งในความทุกข์ ถ้าจิตตั้งมั่นจริงๆ มันจะเห็นทุกข์ เห็นทุกข์มันก็เห็นธรรม

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

มองให้เป็นจะเห็นธรรมะ

ธรรมะมีในที่ทุกที่ ธรรมะไม่ได้อยู่กับวัด อยู่กับครูบาอาจารย์อย่างเดียวหรอก ฉะนั้นธรรมะอย่างเราไหว้พระพุทธรูปเราก็เห็นธรรมะ นึกถึงพระธรรมเราก็เห็นธรรมะ นึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระสงฆ์เราก็เห็นธรรมะ กระทั่งนึกถึงนรกนั่นล่ะ นรกบนดินทั้งหลาย เราก็เห็นธรรมะ โลกมันหลง มันวุ่นวาย เราก็อย่าไปยุ่งกับมัน เราอยู่กับมันแต่ว่าเราไม่ยุ่งกับมัน จำเป็นต้องอยู่กับมัน เราหนีไปอยู่นอกโลกได้ที่ไหน เราก็ต้องอยู่กับความวุ่นวายนี่ล่ะ แต่อยู่ให้เป็น อยู่แล้วเราก็เห็นธรรมะเกิดขึ้นในใจเราตลอดเวลา

เนิ่นช้าเพราะภาวนาผิด

จับหลักให้แม่นๆ แล้วลงมือทำ จะได้ไม่พลาด ที่ภาวนาแล้วใช้เวลานานมาก เพราะภาวนาผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของกระจอก ถ้าทำถูกแล้วทำพอ เราจะได้ผลในเวลาอันสั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ลัดสั้นไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทำกันนาน มองไม่เห็นผล ไม่เห็นฝั่ง ทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เหตุรู้ผล

ใช้กรรมเก่าเป็นทรัพยากร

มีร่างกายนี้ก็สร้างความดีไปเรื่อยๆ เรียกว่าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีให้มีคุณค่า เป็นคนดี แล้วถ้าจะดีกว่านั้นอีก เอาร่างกายมาภาวนา มาทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำสมถะ ทำวิปัสสนา อาศัยร่างกายทั้งนั้น มีสติระลึกรู้ลงไปในร่างกาย มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู คือจิตทรงสมาธิที่ถูกต้อง มีสติระลึกรู้ลงในร่างกาย ไหนๆ ก็มีร่างกายแล้ว แทนที่จะให้มันเป็นเครื่องมือของกิเลส เอามันมาใช้เป็นเครื่องมือผลิตสติผลิตปัญญาของเรา เราใช้ทรัพยากรใช้กรรมเก่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเลย

อย่ามัวแต่รอถามครูบาอาจารย์

เวลาเราภาวนาแล้วเกิดข้อสงสัยขึ้นมา ไม่ต้องไปคิดมาก แขวนข้อสงสัยไว้ แล้วภาวนาของเราไปเรื่อยๆ มันจะรู้สักวันหนึ่ง จะนานเท่าไหร่ก็ช่างมัน เราก็ภาวนาของเราไป ถึงจุดหนึ่งมันก็เข้าใจขึ้นมา ตรงที่จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ปัญญามันจะเกิด ฉะนั้นการภาวนาไม่ใช่การมานั่งถามครูบาอาจารย์ตลอดเวลา แต่ปฏิบัติไป ถ้าจิตมันมีสติ จิตมันมีสมาธิ แล้วปัญญามันเกิด มันตอบปัญหาได้เอง

อยู่ให้เป็นแล้วเย็นสบาย

เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆ ถ้าเราเข้าใจธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมในทุกด้าน สุขได้ก็ทุกข์ได้ ดีได้ก็ชั่วได้ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ นี้คือธรรมะประจำโลก คือธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ ถ้าใจยอมรับว่าโลกต้องเป็นอย่างนี้ ตัณหามันจะไม่เกิด แล้วยิ่งถ้าเราภาวนาได้ประณีตลึกซึ้ง เรารู้ว่ารูปนามกายใจของเรานี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดความยึดถือในรูปนามกายใจ คราวนี้เราจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

การปฏิบัติธรรมคือการลงทุนกับชีวิต

อยู่กับโลกเราก็ลงทุนทำมาหากินทำธุรกิจ หวังว่าจะมีอยู่มีกินจะมีความสุข แต่ความสุขในโลกมันไม่ยั่งยืน อย่างพวกเราหาทรัพย์สมบัติหาอะไรไว้มากมาย ในเวลาไม่กี่สิบปีมันก็ต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป ชีวิตของคนเรามันเหมือนฝัน เมื่อตื่นขึ้นมาทุกอย่างในความฝันมันก็หายไปหมด ธรรมะนี้ให้ประโยชน์ ให้ความสุขกับเรามากที่สุด ก็เป็นความยั่งยืนในชีวิตเรา ถ้าเราลงมือปฏิบัติแล้วอยู่กับเราตลอดชีวิต ตายไปไปเกิดอีกเราก็ภาวนาง่าย พอเราลงมือทำลงมือปฏิบัติ ทำทาน รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญาให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ เมื่อเราเข้าใจความจริงของกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย ถ้าเราเข้าใจความจริงของจิตใจ เราจะไม่ทุกข์เพราะจิตใจอีกต่อไป

วิธีดับเหตุของทุกข์

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเหตุกับผล ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ทำเหตุดี มีผลดี ทำเหตุชั่วก็มีผลชั่ว ผลชั่วก็เป็นผลของความทุกข์ เวลาเราจะแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์ เราเลยไม่ได้ไปแก้ที่ตัวปัญหาหรือตัวทุกข์ แก้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นถึงจะดับ ไปแก้ตัวผลไม่ได้

บ้านที่แท้จริง

ในโลกไม่มีบ้านที่แท้จริง ถ้าเราภาวนาเราจะเห็น บ้านที่แท้จริงของเราคือพระนิพพาน ถ้านอกนั้นยังเป็นที่ที่ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน ต้องหมุนเวียนอยู่ ใจที่มันไม่หลงโลกมันเตือนตัวเอง บ้านนี้ก็ชั่วคราว คนที่เราอยู่ด้วยรอบๆ ตัวเราก็อยู่กันชั่วคราว จะรักหรือจะเกลียดก็อยู่ชั่วคราว อะไรๆ ในโลกเห็นมันเป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย ทั้งวัตถุสิ่งของทั้งผู้คน สุดท้ายกระทั่งร่างกาย สติปัญญามันสอดส่องลงมาในร่างกาย ร่างกายเป็นบ้านของจิต บ้านหลังนี้ก็เป็นบ้านชั่วคราว

Page 44 of 63
1 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 63