วิธีการปฏิบัติสำหรับผู้ดูจิต

ที่ว่าดูจิตดูจิตแล้วเคลิ้มๆ นั้นใช้ไม่ได้ ดูจิตแล้วว่างๆ ใช้ไม่ได้ ดูจิตเราต้องเห็นอะไร ดูจิตแล้วต้องเห็นความจริงของจิต ความจริงของจิตคืออะไร ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการดูจิตถ้าดูแล้วว่างดูแล้วนิ่งดูแล้วเคลิ้ม ดูแล้วไม่เอาอะไรเลย เป็นสมถะ ถ้าดูแล้วเห็นความจริงของจิตนี้ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ทำญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป ทำญาณคือปัญญาเห็นจิต ไม่ใช่ทำสติเห็นจิต สมถะทำสติเห็นจิต แล้วมันก็ว่างลงไป ถ้าเจริญวิปัสสนามีสติรู้จิต มีจิตตั้งมั่นก็เกิดปัญญา เห็นความจริงของจิตว่าเป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเวลาดูจิตนี่อย่าไปดูให้มันว่างๆ ดูให้มันเห็นความจริง ยกเว้นเวลาเราต้องการพักผ่อน จิตเราเหนื่อยแล้ว เราต้องการพัก เราก็จับเข้ากับความว่าง

มีต้นทุนแล้ว ต้องต่อยอดด้วยความพากเพียร

ถ้าเรามีต้นทุนเดิมดีส่งผลมาได้เจอครูบาอาจารย์ เจอครูบาอาจารย์แล้วตั้งใจฟังธรรมเพื่อการปฏิบัติ แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเราคุ้ม พอรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ถึงตัวสุดท้ายเลย ทำความเพียรให้เต็มที่ ไม่ใช่นานๆ ทำที อย่างพวกเรามาเรียนกับหลวงพ่อ บางคนตั้งเป็น 10 ปี 20 ปี มันไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ทำบุญทำทาน ก็มีไม่ใช่ไม่มี ปฏิบัติธรรมให้เต็มที่เป็นอย่างไร ถ้าคิดแต่ว่าวันหนึ่งเราจะแบ่งเวลาไว้ปฏิบัติสักหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน บางคนขอ 15 นาทีก่อนนอน แล้วทั้งวันหลงทั้งวัน ทั้งวันหลงทั้งวันแล้วก็กะไปทำกรรมฐานก่อนนอนนิดๆ หน่อยๆ ก็สะสมกิเลสมาตั้ง 10 กว่าชั่วโมง ไปทำกุศลจะล้างกิเลส ทำครึ่งชั่วโมง ทำชั่วโมงหนึ่ง ไม่ได้กินหรอก มันเหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่ว ตักลงไปแล้วก็รั่วไปหมด ไม่ได้กินหรอก

ถ้าทำให้มันเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ตื่นขึ้นมาก็ด้วยความรู้สึกตัว จะพลิกซ้ายพลิกขวาก็รู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่งก็รู้สึกตัว จะไปกินข้าว จะไปอาบน้ำก็รู้สึกตัว นั่งรถไปทำงานก็รู้สึกตัว ถึงที่ทำงานแล้ว ตอนนี้ยังซดกาแฟอยู่ ยังขยับเปิดคอมพิวเตอร์อยู่อะไรแบบนี่ รู้สึกตัวไป ถึงตอนทำงานที่ต้องคิด ค่อยจดจ่ออยู่กับงาน

การทำงานบ้านเป็นกรรมฐานที่ดีมาก

จริงๆ การกวาดเป็นการปฏิบัติธรรม อย่าไปกลุ้มใจ ตัวที่ทำให้ทำความสะอาดบ้านแล้วกลุ้มใจ คือความคิดของเราเอง ทำไมคนอื่นไม่ทำ ทำไมคนอื่นเอาเปรียบเรา ความคิดตัวนี้ที่ทำให้เราเศร้าหมอง ไม่ใช่การทำงานกวาดบ้านถูบ้านทำให้เราเศร้าหมอง ความคิดของเราเองทำให้เราเศร้าหมอง ฉะนั้นเราต้องระวัง คอยรู้ทันใจของเราไว้ พอเราชำนาญ เราจะเหมือนหลวงตาที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ กวาดจนไม่รู้จะกวาดอะไรก็กวาดอีก กวาดจนสะอาดแล้วสะอาดอีกก็กวาดไปเรื่อย ที่จริงคือการทำกรรมฐาน กรรมฐานที่นั่งก็อย่างนั้น ใครๆ เขาก็ทำ กรรมฐานที่เคลื่อนไหว ทำงานได้นี่สิเก่งจริง

ทำหน้าที่ไม่ครบ บรรลุไม่ได้

บางคนมักง่ายคิดว่าการปฏิบัติธรรมนี่ ทำสมถะทำวิปัสสนาไปเลย เป็นการเจริญสติเจริญปัญญา แล้ววันหนึ่งจะบรรลุมรรคผล บรรลุไม่ได้ มันทำงานไม่ครบหน้าที่ของเรา งานของเรามี 3 งาน อันหนึ่งละบาปทั้งปวง อันที่สองเจริญกุศลให้ถึงพร้อม อันที่สาม ฝึกจิตให้ผ่องแผ้ว

ถ้าคิดว่าทำวิปัสสนาไป แต่ศีลไม่ต้องรักษา ชั่วก็ทำได้ ดีก็ทำ ชั่วก็ทำ มันก็เหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่วๆ ทำความดีก็เหมือนเอาน้ำมาใส่ตุ่มไว้ ทำความชั่วตุ่มก็รั่วแล้ว น้ำมันไม่เต็มตุ่มสักที ตักใส่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวหมดแรง พอหมดแรงก็หยุดการตัก น้ำที่สะสมไว้ก็ไหลไปหมด ความดีเราทำไปเรื่อย ความชั่วก็ทำไปเรื่อย เหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่วๆ ฉะนั้นความชั่วต้องละ ความดีต้องเจริญ ไม่ใช่เอะอะก็รู้กายรู้ใจอย่างเดียว

ถ้าเงื่อนไขเราไม่ครบ ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้จริง เพราะตัวกิเลสทั้งหลายมันเป็นตัวเหตุของความทุกข์ ถ้าเราไม่ละมัน ทำเหตุของความทุกข์เรื่อยไป ผลคือความทุกข์ก็ต้องมีอยู่ตลอดเวลา

โลกธรรม 8 ประการ

ธรรมะที่อยู่ประจำโลก เขาเรียกโลกธรรม มี 8 ประการ มีลาภ ก็เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข แล้วก็มีทุกข์ ธรรมะ 8 ข้อนี้เป็นของประจำโลก จะชอบหรือจะไม่ชอบ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยหายไปไหน ก็อยู่ประจำโลกอยู่อย่างนี้ คนซึ่งเขาไม่ได้ศึกษาธรรมะ เขาอาจจะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมดีๆ ไม่มีโอกาสได้พบครูบาอาจารย์ที่ดีๆ อะไรอย่างนี้ หรือว่าเขาไม่สนใจ ไม่มีของเก่า ไม่มีต้นทุนที่จะปลุกเร้าให้สนใจการปฏิบัติ เขาอยู่กับโลก เขาก็อยากได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ลาภก็คือผลประโยชน์ อยากได้ผลประโยชน์ พอเสียผลประโยชน์แล้วไม่ชอบ อยากได้ผลประโยชน์อย่างเดียว ตรงที่อยากได้ผลประโยชน์ใจก็ดิ้นรนแล้ว ใจดิ้นรนเมื่อไหร่ ใจทุกข์เมื่อนั้น ตรงที่กลัวที่จะเสียผลประโยชน์ ใจก็ดิ้นรน ใจก็ทุกข์อีก แต่ถ้าคนซึ่งมันเห็นความจริง มีโอกาสทำมาหากิน ได้เงินได้ทองอะไรก็ทำ เป็นฆราวาสไม่ใช่ต้องอดๆ อยากๆ รวยได้ก็รวย แต่ไม่ได้รวยในทางที่ผิด มีโอกาสทำมาหากินมีรายได้ดีก็รู้จักบริหารจัดการ พระพุทธเจ้าก็สอน ส่วนหนึ่งไว้บริโภคใช้สอย เลี้ยงดูคนในความดูแลของเรา เลี้ยงดูพ่อแม่ลูกเมียอะไรพวกนี้ เดี๋ยวนี้ต้องเลี้ยงสามีด้วย รู้จักเก็บออม รู้จักลงทุน นี่ท่านสอนไว้ทั้งนั้น

จิตหยิบฉวยจิต

เราต้องดูจิตให้เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ มันก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง แต่ว่าใช้จิตเป็นอารมณ์ ใช้ตัวจิตผู้รู้เป็นอารมณ์ หลังจากนั้นก็ภาวนามาเป็นลำดับๆ แล้วใจมันก็คลายออกจากความทุกข์มาเรื่อยๆ ก็รู้ว่าความอยากเกิดเมื่อไหร่ ใจก็ดิ้นรน ใจดิ้นรนใจก็มีภาระ ใจที่มีภาระก็คือใจที่มีความทุกข์นั่นล่ะ ฉะนั้นจิตยังปล่อยวางจิตไม่ได้ จิตก็มีความทุกข์

Page 52 of 59
1 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 58 59