การเรียนรู้จิตทำได้ 2 แบบ

การเรียนรู้จิต รู้เท่าทันจิต ดูได้ 2 แบบ อันหนึ่งรู้จิตซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ อย่างเช่น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ ความโลภ ความโกรธมันเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่มาประกอบจิต จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ เราเห็นจิตและความรู้สึกต่างๆ มันเกิดขึ้น มันเกิดอยู่ด้วยกัน เห็นจิตมันเกิดดับผ่านเจตสิก อีกอย่างหนึ่ง เราเห็นพฤติกรรมของจิต จิตเดี๋ยวก็มีพฤติกรรมไปดู เป็นผู้ดู เดี๋ยวก็เป็นผู้ฟัง เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้ลิ้มรส เดี๋ยวเป็นผู้รู้สัมผัสทางร่างกาย เดี๋ยวเป็นผู้คิดนึกทางใจ เดี๋ยวเป็นผู้เพ่งทางใจ หรือบางทีก็เป็นผู้รู้ขึ้นมา เราจะเห็นจิตมันทำงานอยู่ทางอายตนะทั้ง 6

ธรรมะเป็นเรื่องของเหตุกับผล

เริ่มจากอินทรียสังวร ถ้าอินทรียสังวรดี สุจริต 3 จะเกิด สุจริต 3 ดี การเจริญสติปัฏฐานจะสมบูรณ์ขึ้นมา การเจริญสติปัฏฐานที่สมบูรณ์จะทำให้โพชฌงค์ 7 สมบูรณ์ขึ้นมา แล้วโพชฌงค์ 7 บริบูรณ์ขึ้นมา มรรคผลจะเกิดนิพพานจะปรากฏ เป็นเรื่องของเหตุกับผล ถ้าทำเหตุอย่างนี้จะมีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้จึงมีผลอย่างนี้ ธรรมะทั้งหลายของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างนี้ เป็นเหตุกับผลที่สืบเนื่องกันไป เป็นขั้นๆๆ สืบเนื่องกันไป เราค่อยๆ ภาวนาเดี๋ยวเราก็เข้าใจ

เหนือโลกไม่ใช่หนีโลก

ระหว่างหนีโลกกับเหนือโลกไม่เหมือนกัน หนีโลกนี่เหมือนคนอ่อนแอ แพ้ผัสสะ แสวงหาแต่ความสุขความสบายอะไรอย่างนี้ ไม่อยากกระทบอารมณ์ พวกหนีโลกนี่ไม่สามารถพ้นโลกได้ มันเอาแต่หนี มันก็จะหนีจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ในขณะที่พวกที่เรียนรู้โลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือกายกับใจเรานี่ล่ะ เรียนรู้มากๆ เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ จิตมันคลายความยึดถือในกายในใจ จิตไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ ก็เรียกจิตมันพ้นโลก

อริยมรรคมีองค์ 8

ถ้าเรามีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก มีความเพียรถูก มีสติถูก มีสมาธิถูก มันก็เกิดขึ้น พอถึงจุดที่สมาธิถูก จิตมันถึงสัมมาสมาธิแล้ว สัมมาญาณะคือปัญญาที่ถูกต้องมันจะเกิด แล้วจิตรวมลงไปเราจะเห็นสภาวะเกิดดับอยู่ภายใน ตรงนี้ญาณทัสสนะที่แท้จริงมันเกิดแล้ว แล้วถัดจากนั้นมรรคผลก็เกิด ตรงที่มรรคผลเกิดก็เป็นสัมมาวิมุตติเกิดขึ้น

มีชีวิตอยู่กับความจริงในปัจจุบัน

เรามีชีวิตอยู่ชั่วขณะจิตเท่านั้นเอง เรามีสติมีปัญญาระลึกรู้ลงตรงนี้ได้ จิตไม่หลงไปอดีต จิตไม่หลงไปอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่กับปัจจุบันได้จริงๆ เราจะไม่คร่ำครวญถึงอดีต เราจะไม่เพ้อฝันกังวลถึงอนาคต บางทีก็ใฝ่ฝันปลื้ม บางทีก็กังวลถึงอนาคต เราอยู่กับปัจจุบันซึ่งเป็นความจริง ไม่ใช่ความจำในอดีต ไม่ใช่ความคิดในอนาคต ชีวิตที่อยู่กับความจริงในปัจจุบัน เป็นชีวิตที่ทุกข์ไม่ได้หรอก

สติครอบคลุมองค์มรรคทั้งหมด

อาศัยที่เรามีสติคอยรู้สึกๆ อยู่ในกายในใจเรื่อยๆ ตรงที่เรามีสติคอยรู้สึกอยู่ในกายในใจ สัมมาวายามะก็เกิด สัมมาสติก็เกิด สัมมาสมาธิก็เกิด เกิดอัตโนมัติ ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จริงแล้วสติครอบคลุมองค์มรรคทั้งหมดเลย ถ้าเราขาดสติตัวเดียวองค์มรรคไม่มีเหลือเลย

สติปัฏฐาน 4 ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

สติปัฏฐาน 4 ถ้าเราฝึกไป เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา แล้วสติปัฏฐาน 4 นี่ไม่ว่าหมวดใดหมวดหนึ่งสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ถ้าเราไปอ่านพระไตรปิฎกจริงๆ อย่างมหาสติปัฏฐานสูตร ลงท้ายแต่ละบรรพแต่ละบทจะลงท้ายเหมือนกันหมดเลยว่าท่านถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ ถ้าถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ มันก็พ้นโลกเท่านั้นเอง

สมถะกับวิปัสสนาทิ้งกันไม่ได้

สมถะจำเป็น วิปัสสนาก็จำเป็น 2 อันนี้เกื้อกูลกัน เหมือนมือซ้ายกับมือขวา มือซ้ายกับมือขวามันช่วยกัน อย่างเราล้างมือ มือซ้ายล้างมือขวา มือขวาล้างมือซ้าย สมถะก็เกื้อหนุนวิปัสสนา ทำวิปัสสนาได้ดีสมถะเราก็ดีขึ้นด้วย มันเกื้อหนุนกัน ประคับประคองกันให้ก้าวไปสู่เส้นทางแห่งโพธิ สู่เส้นทางแห่งมรรคผล

จิตเป็นกุญแจของการปฏิบัติ

การปฏิบัติทิ้งเรื่องจิตไม่ได้หรอก เริ่มจากจิต มีจิตเป็นผู้รู้ เอาจิตที่เป็นผู้รู้ไปเจริญปัญญา เจริญปัญญามากเข้า จิตก็รวมลงที่จิตอีก แล้วมันก็มาตัดกิเลสที่จิต ที่มรรคจิต สัมผัสพระนิพพานด้วยจิต เรียกว่าผลจิต เรื่องของจิตทั้งนั้น ฉะนั้นจะชอบเรื่องจิตหรือไม่ชอบเรื่องจิตก็ทิ้งเรื่องจิตไม่ได้ จิตนั้นมันเป็นกุญแจของการปฏิบัติ

การเจริญเมตตา

คนที่มีความเมตตา อย่าว่าแต่มนุษย์เลย สัตว์มันยังรักเลย อย่างสัตว์ร้ายๆ ใจเรามีเมตตาอยู่ สัตว์ก็ไม่ทำร้ายเรา ยกเว้นสัตว์ที่มันบาดเจ็บมันถูกคนทำร้ายมาจนฝังใจ พวกนี้ถึงเจอคนมีเมตตามันก็กัดเอาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นสัตว์ทั่วๆ ไป เราเห็นมัน เราเมตตามัน มันก็เมตตากับเรา เป็นมิตรกับเรา กระแสของความเมตตามันร่มเย็น

Page 49 of 63
1 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 58 59 63