สิ่งที่ควรทำคือความดี

ทานมีโอกาสทำก็ทำ ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึกทั้งความสงบ ทั้งการเจริญปัญญา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้เท่ากับเราได้ใช้ชีวิตของเรา ใช้ร่างกายของเรา ทำประโยชน์สูงสุดให้ตัวเองแล้ว การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นประโยชน์รองลงไปแล้ว แต่ประโยชน์ที่สำคัญเลยคือพัฒนาตัวเองได้ นำตัวเองไปสู่ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก พ้นทุกข์ได้

วัดใจตัวเอง

ถ้าเราภาวนาถูกต้อง อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่มันจะไม่เกิด หรือว่าเกิดได้เบาบางลง กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้น กุศลที่มีแล้วก็เจริญขึ้น พัฒนาเข้มแข็งมากขึ้น ถ้าวัดด้วยวิธีนี้แล้ว มันจะชี้ได้เลยว่าที่ปฏิบัติอยู่ถูกหรือผิด วัดได้ด้วยตัวเอง สังเกตใจตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเอง เวลาเราจะวัดกิเลสตัวเอง ต้องวัดในสภาวะที่จิตอยู่ในสภาวะปกติ อย่าไปทรงสมาธิอยู่ ไปทรงสมาธิอยู่ แล้วจะให้วัด ไม่มีอะไรให้วัดเลย ต้องเป็นจิตที่ปกติ

ฉลาดรู้กรรมฐานที่ควรกับตัวเอง

ต้องฉลาดในการรู้ว่าเราควรกับกรรมฐานอะไร แล้วพอเราทำกรรมฐานเราก็ต้องรู้อีกแล้ว ตอนไหนควรทำสมถะ ตอนไหนควรทำวิปัสสนา ก็ต้องรู้ เจริญปัญญาจนจิตฟุ้งซ่านแล้ว ก็ต้องมีปัญญารู้ว่า ตอนนี้ควรทำสมถะ ทำสมถะอยู่นานสงบ สบาย แล้วเพลินๆ ต้องมีปัญญารู้ตอนนี้ควรเจริญวิปัสสนาแล้ว ที่ว่าเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ทั้งสมถะและวิปัสสนามันเป็นอย่างนี้

ติดชั่วก็ทุกข์ ติดดีก็ทุกข์

ท่านพุทธทาสท่านเคยสอน ท่านบอกชั่วกับดีอัปรีย์พอกัน อัปรีย์หมายถึงไม่น่ารัก ติดในความชั่วอันนี้เลวสุด ติดในความดีก็ทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะไม่ทำชั่ว เราทำความดีแต่ไม่ติด จิตมันชั่ว มีสติรู้ทันแล้วก็อย่าทำ จิตมันปรุงดีขึ้นมา มีสติรู้ทัน เราก็ทำ แต่ว่าอย่าไปติดมัน พวกติดดีก็น่าสงสาร แต่พวกติดดีก็ดีกว่าติดชั่ว แต่ไม่ติดอะไรเลยดีที่สุด

แนวรุกแนวรับในการภาวนา

การภาวนา ไม่ทำสมถะก็ทำวิปัสสนา มีศิลปะประจำตัว รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา จิตเราเหนื่อยเกินไปก็ไม่ตะบี้ตะบัน ไปนั่งจะให้สงบ มันไม่สงบ หาอะไรที่ผ่อนคลายให้มันเสียหน่อยหนึ่ง ทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ จะมาทำกรรมฐานต่อก็เหนื่อยกาย เหนื่อยใจหนักเข้าไปอีก เวลานี้ควรทำให้จิตใจผ่อนคลายก็ทำ เวลานี้ควรทำสมถะก็ทำ เวลานี้ควรเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา รู้จักแนวรุกแนวรับของเรา

เรามีสิทธิ์เลือกความสุขของตัวเอง

เรามีอิสระที่จะทำกรรม เราพอใจที่จะหาความสุขในโลกิยธรรม ความสุขอย่างโลกๆ ก็หาไปเถอะ หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก หลวงพ่อแค่บอกว่า มันมีความสุขที่เหนือกว่านี้อีก 2 อย่าง คือความสุขของสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญาจนเกิดมรรคเกิดผลนิพพานขึ้นมา เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำดับไป

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

ทำวิปัสสนาพอสมควร พอจิตเริ่มเหนื่อยก็หยุด อย่าตะบี้ตะบันทำวิปัสสนา ก็ต้องหยุดทำสมถะขึ้นมา ทำสมาธิให้จิตมีกำลังขึ้นมาแล้วไปเดินปัญญาต่อ ถ้าเดินอย่างนี้ทำให้มาก เจริญให้มาก ไม่ขี้เกียจไม่ใช่นานๆ ทำที ทำให้ได้ทุกวันๆ ทำให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้ เราก็อาจจะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอชาติไหนหรอก ถ้าเราทำไม่ถูก ทำถูกแล้วขี้เกียจ ยังไม่ได้หรอกอีกนาน กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป เราก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

อย่าถนอมรักษากิเลส

ถ้าตามใจกิเลสแล้ว ไม่ว่าจะไปเจริญสติปัฏฐาน ไปนั่งสมาธิ ไปทำวิปัสสนา ไม่ได้เรื่องๆ ไม่สำเร็จหรอก ฉะนั้นถ้าใครก็ตามจะมาถามหลวงพ่อว่าจะปฏิบัติอย่างไร สำรวจตัวเองก่อนจะถาม กิเลสนั้นเราสู้กับมันไหม หรือเรายอมแพ้มัน ถูกมันลากจูงจมูกทั้งวันอย่างนั้น ถ้าแบบนั้นยังไม่ต้องมาถามว่าเจริญสติ เจริญปัญญาอย่างไร มันทำไม่ได้

ปฏิบัติบูชา

การภาวนาไม่ต้องกลัวหรอก ทำไปเถอะ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอทุกวันๆ แล้วก็สังเกตใจของเราไป ที่เราปฏิบัติอยู่นี่ เราทำด้วยความโลภไหม ถ้าโลภเราก็อยากได้ผลเยอะๆ อยากได้ผลเร็วๆ อยากทีไรก็ทุกข์ทุกที ฉะนั้นเราก็ปรับใจใหม่ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาอะไร แต่ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไปเท่านั้นเอง เหมือนเราจัดดอกไม้บูชาพระไม่ได้หวังว่าจะต้องได้อะไร ฉะนั้นปฏิบัติไม่คาดหวังว่าจะได้อะไร ทำให้สม่ำเสมอทุกวันๆ

Page 40 of 63
1 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 63