จิตหยิบฉวยจิต

เราต้องดูจิตให้เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ มันก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง แต่ว่าใช้จิตเป็นอารมณ์ ใช้ตัวจิตผู้รู้เป็นอารมณ์ หลังจากนั้นก็ภาวนามาเป็นลำดับๆ แล้วใจมันก็คลายออกจากความทุกข์มาเรื่อยๆ ก็รู้ว่าความอยากเกิดเมื่อไหร่ ใจก็ดิ้นรน ใจดิ้นรนใจก็มีภาระ ใจที่มีภาระก็คือใจที่มีความทุกข์นั่นล่ะ ฉะนั้นจิตยังปล่อยวางจิตไม่ได้ จิตก็มีความทุกข์

รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง

เราเห็นว่าร่างกายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เราไม่ได้เห็นว่าร่างกายคือทุกข์
ทุกข์มาก กับทุกข์น้อย เราไม่เห็น แต่เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
เราไม่เห็นว่าจิตใจคือตัวทุกข์ แต่เราเห็นว่าจิตใจนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง
มันถึงเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก อวิชชายังอยู่ เรียกว่าไม่รู้ทุกข์

กรอบทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม

เราปฏิบัติเพื่ออะไร? ต้องรู้ เพื่อพ้นทุกข์
จะพ้นทุกข์ได้ ต้องรู้ว่าทุกข์เกิดจากตัณหา
ตัณหามันก็คือ อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์
ตัณหาเกิดได้เพราะไม่เห็นความจริง ว่ากายนี้คือตัวทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข
ไม่เห็นความจริงว่าจิตใจเป็นตัวทุกข์ มีทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เราไปเห็นว่าจิตใจเป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
พอเห็นว่ามีสุขกับทุกข์ มันจะดิ้นรนหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ ตัณหามันก็เกิด
เพราะฉะนั้น เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ นั่นคือคำตอบ
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่าสติปัฏฐาน 4 เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
สติปัฏฐาน 4 ไปดูเถอะ ก็คือรู้กายรู้ใจ
รู้ให้เป็น อย่าไปแทรกแซง อย่าบังคับกายบังคับใจ

พระเหนือพรหม

ถ้าเราดูพระเหนือพรหมเป็น เราจะรู้เลย เป็นคำสอนอันหนึ่ง สอนให้ดูตัวเอง
ถ้ามัวแต่ดูที่อื่น ก็จะหาพุทธะไม่เจอ หาจิตที่หลุดพ้นไม่เจอ
เพราะฉะนั้น การที่จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวเรื่องสำคัญ
ย้อนมาดูตัวเองบ่อยๆ ถ้าไม่ดูตัวเอง ไม่มีทางจะบรรลุมรรคผลเลย
จะไปรู้ทั้ง 3 โลก ก็ไม่เห็นพุทธะ เหมือนพรหมมองไปทั้ง 3 โลกเลย
ทั้งนรก-สวรรค์อะไร ดูไล่ไปหมด 31 ภูมิ หาพระพุทธเจ้าไม่เจอ เพราะมัวแต่ดูออกข้างนอกไม่ได้ดูตัวเอง

Page 61 of 67
1 51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 62 63 64 65 66 67