ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย

หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา

เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

ทำสมถะเพื่อให้จิตมีแรงและตั้งมั่น

เราก็ต้องรู้ว่า เราจะทำสมาธิเพื่ออะไร ทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้มีแรง เพื่อให้จิตตั้งมั่น ตอนไหนจิตไม่มีแรง น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญที่ตัวอารมณ์ จิตก็จะมีกำลัง เพราะจิตไม่ได้วิ่งวอกแวก ไปที่อารมณ์โน้นทีอารมณ์นี้ที เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน จิตก็เลยมีแรง วิธีทำให้จิตตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ได้น้อมจิตไปหาลมหายใจ ไม่ได้น้อมจิตไปที่พุทโธ แต่รู้ทันจิต ฉะนั้นสมาธิ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกที่ทำเพื่อความสงบนั้น ตัวอารมณ์เป็นพระเอก อย่างที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวจิตเป็นพระเอก 2 อันนี้จะแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

ความสุขที่เกิดจากปัญญา

เราปรารถนาความสุขในชีวิต เราต้องรู้ว่าความสุขอย่างโลกๆ มันสุขหลอกๆ มันสุขเพื่อให้เราทุกข์ต่อไป สุขหลอกๆ ให้เรามีแรงที่จะวิ่งพล่านๆ ตามกิเลสตัณหาต่อไป แล้วความสุขที่ประณีตกว่านั้น คือความสุขของสมถกรรมฐาน ความสุขของการทำวิปัสสนากรรมฐาน ความสุขเมื่อเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ความสุขเมื่อจิตทรงพระนิพพาน มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเรื่อยๆ ไป แล้วสติปัญญาจะค่อยพัฒนาแก่กล้าขึ้น ใจจะปล่อยวางจางคลายจากโลกมากขึ้นๆ พอใจมันคลายตรงนี้ มันจะรู้เลยว่า ในโลกนี้ไม่มีสาระ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราถูกหลอกให้วิ่งพล่านๆ แสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อวันหนึ่งจะสูญเสียมันทั้งหมดไป ใจฉลาดขึ้นมา ใจมีปัญญาขึ้นมา ใจก็ค่อยสงบ ใจมีความสุข

อยู่กับโลกให้เป็นจะภาวนาง่าย

อยู่กับโลก ต้องรู้จักมัน ต้องเข้าใจมัน ถ้าเราอยู่กับโลก จิตใจเราสงบสุข สบายตามสมควรกับอัตภาพแล้ว การที่เราจะมาถือศีลมาภาวนามันจะไม่มีเครื่องกังวลใจ การประพฤติตัวให้สะอาดหมดจดสำคัญ จะทำให้เรามีความสุข ถ้าเมื่อไรเราย้อนมาดูตัวเองแล้วเราไม่เห็นข้อบกพร่อง ผิดศีลผิดธรรม หรือบางทีมองตัวเองไม่ออก พรรคพวกเพื่อนฝูงที่ดีเขาก็เห็นว่าเราดีจริง หรือครูบาอาจารย์เห็นว่าเราดีจริง คนอย่างนี้ใจมันสงบสุข ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างสะอาดหมดจด เวลาเราลงมือภาวนาจิตมันจะรวมง่าย หายใจไม่กี่รอบก็จิตรวมแล้ว ถ้าฝึกจนชนิชํานาญ นึกอยากให้จิตรวมก็รวมทันทีเลย แต่ถ้าใจเราเศร้าหมอง มีแต่เรื่องชั่วๆ มีแต่ความหวาดระแวง นั่งให้ตายมันก็ไม่รวมหรอก จิตมันภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสอยู่กับโลกอยู่อย่างฉลาด

จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา

ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเริ่มแยกขันธ์ได้ แยกธาตุได้ ค่อยๆ แยกออกไป แล้วเราจะเห็นร่างกายที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่เรา เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา เวทนาทางใจคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนาทางกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ ไม่ใช่จิต กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา

สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา

จุดสำคัญก็คือ เราจะต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย ก็จะเห็นว่าร่างกายถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศล อย่างโลภโกรธหลง มันก็จะเห็น กุศลอกุศลโลภโกรธหลงอะไรไม่ใช่ตัวเรา นี่เราฝึกมากเข้ามากเข้า เราก็จะเห็นว่าบางครั้งจิตก็เป็นผู้รู้ บางครั้งจิตก็เป็นผู้หลง จิตที่เป็นผู้รู้มันก็ถูกรู้ จิตที่เป็นผู้หลงมันก็ถูกรู้ สุดท้ายกระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

คุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี

หน้าที่ของชาวพุทธเราคือเราเป็นนักศึกษา ทำหน้าที่ศึกษาตัวเองให้ถ่องแท้ไป สํารวจใจเรา เรามั่นคงกับพระรัตนตรัยแค่ไหน หรือเราเห็นพระรัตนตรัยเป็นบ่อเงินบ่อทอง เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ คนจํานวนมากเอาศาสนาไปแสวงหาผลประโยชน์ เรามีศีลดีงามไหม สํารวจตัวเอง ถ้าศีลเรายังด่างพร้อยอยู่ เราก็ยังไม่ใช่ชาวพุทธที่ดี ไม่ใช่ลูกที่ดีของพระพุทธเจ้า เราไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราถือศีลแล้วเราไม่ถือ อีกข้อหนึ่งก็คือเราเชื่อกฎแห่งกรรมไหม หรือเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หรือบางวันไม่เชื่อเลยอะไรอย่างนี้ สํารวจตัวเอง คนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะเชื่อว่า เราจะต้องพ้นทุกข์ไปด้วยความเพียรของเราเอง

Page 1 of 48
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 48