สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก

ถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์ เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

ใช้จิตประภัสสรไปเจริญปัญญา

จิตที่มีสติก็ประภัสสร เพราะขณะนั้นไม่มีกิเลส จิตเป็นกุศล ผ่องใส ประภัสสร พอได้จิตที่ผ่องใสประภัสสร มีสติอยู่ ก็เอาสตินั้นล่ะ เอาจิตอันนั้นล่ะไปเจริญปัญญา ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย จิตผู้รู้ก็คือจิตประภัสสรนั่นเอง เป็นจิตที่ไม่เจือปนด้วยกิเลส มีสติอยู่ เป็นกุศลจิต เราจะต้องพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราพัฒนาจิตดวงนี้ขึ้นมาไม่ได้ เราไปเจริญปัญญาไม่ได้จริง เราเอาจิตที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสไปเจริญปัญญา ความรู้ความเห็นนั้นจะเจือปนด้วยอคติ จะมีอคติ เพราะว่ามันมีกิเลสในการมอง ฉะนั้นผลลัพธ์ที่ออกมาเลยไม่ใช่ของจริง ปนเปื้อนด้วยอคติ

วิปัสสนาไม่ดัดแปลงจิต

เราค่อยๆ ฝึก ฝึกตัวเอง ในขั้นวิปัสสนาไม่ต้องแก้ไขอะไร รู้ทุกอย่าง อย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น ยกเว้นตอนเริ่มต้น ถ้ามันไม่ยอมเดินปัญญา ต้องช่วยมันแก้ แก้ไขที่จิตติดนิ่ง ติดเฉย ก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิตอะไรไป สมถะต้องทำ ต้องแก้ไข ส่วนมากอารมณ์กรรมฐานที่ใช้ทำสมถะ ก็จะเป็นอารมณ์ตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์กับกิเลสหลักของเรา อย่างเราพวกโทสะเยอะ เจริญเมตตาไป ให้ใจร่มๆ ใจเย็นๆ ใจก็สงบ มีราคะพิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ก็เห็นราคะไม่มี วัตถุกามไม่มีสาระแก่นสาร ราคะก็สงบ ใจก็ร่มเย็น

ศีลและสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา

เราเดินตามแผนผังที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้เรา อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่ไม่มีศีล ก็โดดขึ้นไปทำสมาธิ ไม่มีศีลแล้วไปทำสมาธิได้ไหม ก็ได้ แต่มันก็จะเกเรแบบเทวทัต เทวทัตทำสมาธิได้แต่เทวทัตไม่มีศีล สุดท้ายเทวทัตก็ลงอเวจี เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้ แบบเรียนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา มีขั้นมีตอน มีลำดับที่ชัดเจน ก่อนเจริญปัญญานั้นต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน ก่อนที่จะลงมือฝึกจิตนั้น ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน ให้เด็ดเดี่ยวลงไป ถ้าเรารักษาศีลของเราไว้ได้ดี เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เราจะเหลือความชั่วทางใจ ซึ่งอันนี้ล่ะเราจะล้างมันด้วยสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาเราให้สะอาดหมดจด ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด

อสุรกายเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราไปดูถูกคนอื่น ดูถูกเทวดา พรหม หรือภูติผีปีศาจอะไร ท่านสอนให้เรามองเขาในฐานะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมทุกข์ คือยังทุกข์อยู่ด้วยกัน เหมือนเพื่อนเรายังลำบากมาก เราก็ยังพยายามไปเรียก ให้เขาช่วยโน่นช่วยนี่อีก มันไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดเลย อย่างพวกอสุรกายมันลำบากมาก เราก็จะไปไหว้ จะเอาตัวอะไรไปบูชายัญอะไรอย่างนี้ หวังจะให้ช่วยเรา มันยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเลิก ชาวพุทธเราต้องเลิกที่จะเอาสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา

เราต้องเอาธรรมะเป็นที่พึ่ง เรียนรู้ธรรมะไป เข้าใจวิธีปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม แค่ไหนสมควร ก็ปฏิบัติเต็มสติเต็มกำลังของเรานั่นล่ะ เรียกว่าปฏิบัติโดยสมควร ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนั้นจะคุ้มครองเรา

หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

จิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

วิปัสสนาปัญญา

ไปทำให้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่ล้างกิเลสหรอก ตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอีก ตัวที่จะสู้กิเลสล้างกิเลสได้จริงคือตัวปัญญา ตัวความรู้ถูกความเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าบอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะเป็นปัญญาระดับที่สู้กิเลสได้ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริง วิปัสสนะ แปลว่า การเห็น เห็นอย่างถูกต้อง วิ แปลว่าเห็นแจ้ง แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเรียกว่าเห็นแจ่มแจ้ง อันนั้นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา

ทุกขาปฏิปทา

ภาวนาอย่ากลัวทุกข์ อย่ากลัวลำบาก อดทนเอา แต่ว่าดูตัวเอง ถ้ากิเลสของเราเป็นพวกกิเลสเบาบาง ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติโหดๆ ถ้าพวกกิเลสหนา ราคะแรง โทสะแรง หรือโมหะแรง พวกนี้ต้องทุกขาปฏิปทา อดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ห้าวหาญ สู้ตาย ถ้ารอดมาก็จะได้ดี แต่บอกให้อย่างหนึ่ง ไม่เคยมีใครนั่งสมาธิแล้วตายหรอก ไม่เคยมีใครปฏิบัติแล้วตายหรอก เพราะฉะนั้นอ่อนแอไม่ได้ ดูตัวเองเลย ถ้าเป็นคนที่กิเลสรุนแรง อดทนไว้ ขยันนั่งสมาธิ ขยันเดินจงกรม

Page 8 of 44
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 44