ละความเห็นผิดแล้วจึงละความยึดถือ

จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ คนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์

ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

รู้ว่ากายใจเป็นทุกข์จึงหมดความยึดมั่น

ถ้ามีสติอยู่กับร่างกาย รู้สึกไป ไม่นานเราก็จะเห็นความทุกข์ ร่างกายมีแต่ทุกข์ มีสติรู้สึกจิตไปเรื่อยๆ ไม่นานเราก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นก็เป็นตัวทุกข์ มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู ถ้ารู้ทุกข์เมื่อไร ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เรายึดกายมากเพราะเราเห็นว่ากายเป็นตัวสุข เป็นตัวดี พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกายเนืองๆ กายนี้เป็นตัวทุกข์ ความรักใคร่หวงแหนในร่างกาย ก็จะลดลงจนกระทั่งวันหนึ่งมันไม่ยึดถือในร่างกาย ต่อไปก็ดูจิตใจไป เห็นจิตใจเป็นตัวทุกข์ เรียกรู้ทุกข์ มันก็ละสมุทัย ละความรักใคร่หวงแหนในจิตใจ ก็วางตรงที่วางนั่นล่ะคือตัวนิโรธ ปล่อยวางได้

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

อ่านจิตตนเอง

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก

หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก

ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

หัดอ่านใจตัวเองไป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคเดียว หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่สอนง่ายๆ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเอง จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ แล้วต่อไปองค์มรรคที่เหลือ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติ นี่คือใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเราปฏิบัติได้ สิ่งที่เราจะได้คือเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วพ้นทุกข์หรอก พ้นเดี๋ยวนี้เลย

Page 7 of 44
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 44