กตัญญูกับพระพุทธเจ้า

เราเป็นคนเราต้องรู้จักคำว่ากตัญญู บรรพบุรุษมีบุญคุณ คนไม่กตัญญูใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เราอยากดูว่าคนไหนดีไม่ดี ดูว่าเขากตัญญูไหม ความกตัญญูกว้างขวาง กตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ใหญ่โตขึ้นมาก็คือกว้างขึ้นมาก็คือ กตัญญูกับชาติบ้านเมือง แล้วเราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องกตัญญูกับพระพุทธเจ้าด้วย การจะกตัญญูกับพระพุทธเจ้า คือเราต้องเป็นลูกที่เชื่อฟังท่าน อะไรที่ท่านห้ามอย่าทำ อะไรที่ท่านบอกว่าควรทำต้องทำ สิ่งที่ท่านห้ามเราก็คืออย่าทำชั่ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ให้เราฝึกจิต ให้เราเจริญปัญญา

ลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้

ธรรมะที่พระศรีอาริย์สอนกับที่พระพุทธโคดมสอนก็อันเดียวกัน ถ้ายุคนี้เหลวไหลก็สะสมนิสัยเหลวไหลไปจนถึงยุคข้างหน้า ไปเจอพระศรีอาริย์มันก็เหลวไหลต่อไปอีก มันผ่านพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก ก็ไม่หายเหลวไหล ถ้าเราไม่อยากเหลวไหล โอกาสที่จะเจอศาสนาพุทธจริงๆ หายากมาก วันเวลาที่มีพระพุทธศาสนาสั้นนิดเดียวเทียบกับเวลาที่ไม่มี เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถือว่าเราเป็นพวกมีบุญพอสมควร รีบมาต่อยอดตัวเองศึกษาปฏิบัติธรรมให้มาก จะศึกษาปฏิบัติธรรมต้องรู้ก่อนว่าเราปฎิบัติไปเพื่ออะไร ปฏิบัติธรรมะเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย

ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว

สะสมคุณธรรมความดี

ภาวนา พยายามทำเข้า ลดละความชั่ว สร้างสรรค์ความดีให้ตัวเองไว้ มีโอกาสทำทานก็ทำ อย่าทำจนตัวเองลำบากเดือดร้อน ศีลรักษาให้เต็มที่ สมาธิต้องทำทุกวัน แบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบทุกวันๆ ปัญญาก็เรียนรู้ความจริงของโลกของชีวิตไป ถ้าอินทรีย์เรายังอ่อนเราลองมองทั่วๆ ไป สัตว์ที่เป็นทุกข์สัตว์ที่ลำบากเยอะแยะไปหมด เห็นแล้วใจก็เกิดเมตตากรุณาได้ แล้วก็ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้ากำลังของเรามากขึ้น เราก็เรียนเข้ามาให้ถึงรูปนามกายใจของตัวเอง รู้ลงมาที่กาย รู้ลงมาที่ใจ แล้วจะเห็นความจริง ถึงสุดท้ายเราจะเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเห็นอย่างนั้นเรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละตัณหาได้ทันที นิโรธคือนิพพานก็ปรากฏขึ้นทันที อริยมรรคก็เกิดขึ้นในทันทีนั้น ฉะนั้นเราสะสมของเรา เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ดี วันนี้ยังเลวอยู่ก็ลดละเสีย

ศีลจำเป็นสำหรับการภาวนา

การปฏิบัติ เราต้องให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญญาต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปๆ มีแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรคงที่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเราก็พัง พอศีลไม่ดี ใจจะถูกกิเลสเย้า ยั่วยวน ชักจูงไป จิตก็ฟุ้งซ่าน สมาธิเราก็เสีย ไม่ตั้งมั่น แล้วถ้าเราไม่มีศีล เราไปเจริญปัญญา มันจะเป็นปัญญาแบบคนทุศีล ปัญญาแบบตามใจกิเลสปกป้องกิเลส เข้าข้างกิเลส เพราะฉะนั้นตั้งใจ ศีลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำแล้วมีอานิสงส์มาก เราจะได้ประโยชน์ในปัจจุบันได้ประโยชน์ในอนาคต ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา

ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย

หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา

เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

ทำสมถะเพื่อให้จิตมีแรงและตั้งมั่น

เราก็ต้องรู้ว่า เราจะทำสมาธิเพื่ออะไร ทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้มีแรง เพื่อให้จิตตั้งมั่น ตอนไหนจิตไม่มีแรง น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญที่ตัวอารมณ์ จิตก็จะมีกำลัง เพราะจิตไม่ได้วิ่งวอกแวก ไปที่อารมณ์โน้นทีอารมณ์นี้ที เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน จิตก็เลยมีแรง วิธีทำให้จิตตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ได้น้อมจิตไปหาลมหายใจ ไม่ได้น้อมจิตไปที่พุทโธ แต่รู้ทันจิต ฉะนั้นสมาธิ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกที่ทำเพื่อความสงบนั้น ตัวอารมณ์เป็นพระเอก อย่างที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวจิตเป็นพระเอก 2 อันนี้จะแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

Page 2 of 50
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 50