ต้องปฏิบัติให้ครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัติเราต้องทำให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง การภาวนาก็จะล้มเหลว ศีลก็ฝึกตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส สมาธิก็ฝึกให้จิตใจสงบจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว แล้วอาศัยช่วงเวลานั้นมาเจริญปัญญา ถ้าเราเอาใจที่ปนเปื้อนกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริง ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของสำคัญ ขาดไม่ได้

ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ไม่ให้ไหลตามกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเป็นเครื่องล้างผลาญทำลาย ขุดรากถอนโคนกิเลส 3 สิ่งนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งก็สู้ยาก สู้ไม่ไหว

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

จิตตั้งมั่นทำให้เราเจริญปัญญาได้

สมาธิที่ดี มันมาจากกำลังของสติ สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันรูปนาม กายใจของเรานี้ หรือสติปัฏฐานก็อยู่ในรูปนามทั้งหมดนั่นล่ะ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เรารู้ จิตเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติรู้ทัน มีสัมมาสติแล้ว สัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ทันปุ๊บ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็จะตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่น ทำขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นของปลอม แต่เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ เพราะกำลังของสติที่รู้กายรู้ใจ อาศัยสติแล้วจิตเราจะตั้งมั่น คือเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา พอเกิดสัมมาสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว มองโลก โลกนี้เริ่มจากกายจากใจของเรา กายกับใจของเราก็คือโลก รูปนามทั้งหลายคือโลก สัตว์ทั้งหลายคือโลก แล้วก็มองความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ตรงที่จิตตั้งมั่นถึงจะทำให้เราเจริญปัญญาได้ จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง

สัจฉิกิริยา

เวลาเราภาวนารู้ทุกข์เข้าไปเถอะ ถ้ารู้พอแล้วมันละสมุทัยเอง ทันทีที่สมุทัยคือตัณหาคือความอยากถูกละไป จิตจะเข้าถึงนิโรธ อันนี้สัจฉิกิริยา วิธีจะเข้าถึงสัจฉิกิริยาก็ไม่มีอะไร ก็รู้ทุกข์นั่นล่ะ พอรู้ทุกข์ จนละสมุทัย แล้วก็แจ้งนิโรธ ไปสัมผัสพระนิพพาน หน้าที่ของเราก็คือรู้ทุกข์จนกระทั่งละสมุทัยได้ ละสมุทัยได้เราก็แจ้งพระนิพพานได้ เรียกว่ามีสัจฉิกิริยาสำเร็จแล้วตรงที่เรารู้ทุกข์นั่นล่ะ จะรู้ได้ดีก็ต้องเจริญมรรค เจริญมรรคตรงรู้ทุกข์มีสัมมาญาณะนั่นล่ะ ก็มีองค์มรรคทั้ง 8 ทำให้เรารู้ทุกข์ได้แจ่มแจ้ง

บูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ

ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แต่เราอย่าเดินเพื่อหาอะไรเข้าตัว เดินไปด้วยความเคารพ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า เรารักษาศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิให้จิตสงบ ไม่วุ่นวายอยู่กับกามคุณอารมณ์ในโลกก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าเจริญปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติบูชานั้น มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าอามิสบูชา การบูชามี 2 อย่าง อามิสบูชา อย่างเราหาดอกไม้ธูปเทียน มาไหว้พระ ถามว่าดีไหม ดี ใส่บาตรให้พระฉันเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา ก็แล้วแต่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาเราไม่มาก มันก็เป็นแค่อามิสบูชา เอาของมาถวายพระ ถ้าเรามีปัญญามาก เราก็เห็นว่าที่เราทำนี้ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง นี่เราปฏิบัติบูชา

หลักสูตรการฝึกสติคือสติปัฏฐาน

หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา 2 อย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

สมบัติ 4 – วิบัติ 4

ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี คือ เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่า ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน ตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

ธรรมะเป็นของตรงไปตรงมา

ท่านสอนง่ายๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ เห็นไหม คำพูดนี้ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีอะไรที่พิสดาร จิตเรามีราคะเราก็รู้ จิตไม่มีราคะเราก็รู้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย ของง่ายๆ ธรรมะเป็นของง่ายๆ เรียบง่าย เปิดเผยตรงไปตรงมา กิเลสของเราทำให้เราคิดว่าธรรมะพิสดารผิดธรรมชาติธรรมดา การภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย ให้จิตใจอยู่ที่ตัวเอง รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ศัตรูมี 2 อัน ไม่หย่อนก็ตึง หย่อนไปนี่ภาษาพระเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตึงนี่เรียก อัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก ทางสายกลางคือรู้อย่างที่กายมันเป็น รู้อย่างที่ใจมันเป็นไป นี่เป็นหลักของการปฏิบัติ

รถวินีตสูตร

วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรม ระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านถามพระปุณณมันตานีบุตร ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้

สัมมาทิฏฐิ

เราเรียนธรรมะ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ไม่ได้อย่างอื่น สิ่งที่ได้จริงๆ แค่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เรียกเรารู้จักสัมมาทิฏฐิแล้ว ใจเราก็จะหมดตัณหา หมดความยึดถือ หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรน ความอยากคือตัณหา ความยึดถือคืออุปาทาน ความดิ้นรนของจิตคือภพ ถ้าหมดสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ถ้าจิตเราไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตมันก็พ้นทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ 5

Page 3 of 49
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 49