พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

กรรมฐานที่เหมาะกับเรา

การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน หัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง

จิตตั้งมั่นทำให้เราเจริญปัญญาได้

สมาธิที่ดี มันมาจากกำลังของสติ สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันรูปนาม กายใจของเรานี้ หรือสติปัฏฐานก็อยู่ในรูปนามทั้งหมดนั่นล่ะ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เรารู้ จิตเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติรู้ทัน มีสัมมาสติแล้ว สัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ทันปุ๊บ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็จะตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่น ทำขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นของปลอม แต่เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ เพราะกำลังของสติที่รู้กายรู้ใจ อาศัยสติแล้วจิตเราจะตั้งมั่น คือเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา พอเกิดสัมมาสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว มองโลก โลกนี้เริ่มจากกายจากใจของเรา กายกับใจของเราก็คือโลก รูปนามทั้งหลายคือโลก สัตว์ทั้งหลายคือโลก แล้วก็มองความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ตรงที่จิตตั้งมั่นถึงจะทำให้เราเจริญปัญญาได้ จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง

บูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ

ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แต่เราอย่าเดินเพื่อหาอะไรเข้าตัว เดินไปด้วยความเคารพ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า เรารักษาศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิให้จิตสงบ ไม่วุ่นวายอยู่กับกามคุณอารมณ์ในโลกก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าเจริญปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติบูชานั้น มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าอามิสบูชา การบูชามี 2 อย่าง อามิสบูชา อย่างเราหาดอกไม้ธูปเทียน มาไหว้พระ ถามว่าดีไหม ดี ใส่บาตรให้พระฉันเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา ก็แล้วแต่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาเราไม่มาก มันก็เป็นแค่อามิสบูชา เอาของมาถวายพระ ถ้าเรามีปัญญามาก เราก็เห็นว่าที่เราทำนี้ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง นี่เราปฏิบัติบูชา

รู้ทันความปรุงแต่งจนหลุดพ้น

หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ป …

Read more

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

วิธีทดสอบเมื่อคิดว่าได้มรรคผล

ถ้ารู้ทันกิเลสตัวเอง เวลาที่คิดว่าบรรลุมรรคผลอะไร ก็คอยสังเกตกิเลสตัวเองไป กิเลสอะไรยังไม่ละ กิเลสอะไรละแล้ว ละชั่วคราวหรือละถาวร สังเกตเอา ไม่ต้องเที่ยวถามคนโน้นคนนี้ เชื่อถือไม่ได้หรอก
มีจำนวนมากเลยที่ไปเรียนที่โน้นที่นี้ที่โน่น ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ แต่ละที่เขารับรองได้โสดาบัน ได้สกทาคามี ได้อนาคามี เขารับรองให้ ไปเรียนอยู่ที่อื่น เขารับรองแล้วมาถามหลวงพ่ออีก จะให้หลวงพ่อรับรอง เรารับรองให้ไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ แต่หลวงพ่อจะสอนให้ ไปสังเกตกิเลสตัวเองเอา กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ที่ละนั้นละเด็ดขาดหรือว่าละชั่วครั้งชั่วคราว กิเลสไม่ใช่ของเกิดตลอดเวลา มันเกิดเป็นคราวๆ กระทั่งสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ก็เกิดเป็นคราวๆ ฉะนั้นไม่ใช่นึกๆ เอาว่า เอ๊ะ ตอนนี้ไม่มี ตอนนี้ไม่มีประเดี๋ยวมันมีก็ได้ ฉะนั้นหัดสังเกตกิเลสตัวเองไว้ให้ดีเถอะ หลวงพ่อไม่ได้พยากรณ์ให้ใครหรอก แต่จะชี้ให้ดู ชวนให้ดูกิเลสของตัวเอง

ความว่างของธาตุทั้ง 6

เวลาเราจะภาวนา เราก็นั่งปรุงแต่งไป ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เวลาภาวนาจะอยากปฏิบัติก็จะไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา ภพก็คือความปรุงแต่ง ไปแต่งจิตให้มันนิ่งๆ ทื่อๆ อะไร หรือบังคับกาย บังคับใจ นั่นคือความปรุงแต่งทั้งหมดเลย ถ้าตราบใดที่เรายังหลงอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราจะไม่เห็นความว่างของธาตุทั้ง 6 จะไม่เห็นความว่างของร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่าง คืออากาศธาตุ เราจะไม่เห็นว่าจิตใจมันก็เป็นธาตุ เป็นธาตุรู้ เพราะความปรุงแต่งนั้นเป็นเครื่องพะรุงพะรังออกมาปิดบังความว่างเอาไว้ อย่างอากาศ จักรวาลนี้มันว่าง เมฆมันลอยมา เราก็รู้สึกฟ้ามันมืด วันนี้ฟ้ามันทึบ ฟ้าไม่ได้มืด ฟ้าไม่ได้ทึบ ฟ้าก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่เมฆมันมาบัง จิตนี้ก็เหมือนกัน โดยตัวมันมันว่างอยู่แล้ว แต่เมฆหมอก คือความคิดนึกปรุงแต่งเข้ามาบดบังญาณทัสสนะของเราเลยเห็นผิดไป เห็นผิด ความปรุงแต่งก็เลยปิดบังความว่างเอาไว้

จิตวางความปรุงแต่งเพราะปัญญา

เราภาวนา เรียนรู้ความจริงของจิตใจตัวเองไปเลย ใจเราสุขขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดรักเกิดโลภ ใจเราทุกข์ขึ้นมารู้ทัน ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดโกรธ คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราจะเห็น ปัญญามันจะเกิด เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในใจเราเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ดูให้เห็นอย่างนี้ ใจจะหมดความยึดถือในความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ใจโลภขึ้นมาก็รู้ ใจไม่โลภแล้วก็รู้ ใจโกรธเราก็รู้ ใจไม่โกรธก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฟุ้งซ่านใจหดหู่ รู้ทันไปเรื่อยๆ จนเห็นว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่งทุกอย่าง เกิดแล้วดับหมด ปรุงดีเกิดแล้วก็ดับ ปรุงชั่วเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ต้องพยายามไม่ปรุง จิตมันไม่ปรุงเอง ถ้าพยายามไม่ปรุงก็คือความปรุงแต่ง ใช้ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพยายามไม่ปรุงแต่ง ให้เห็นความปรุงแต่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถึงจุดหนึ่งจิตมันวางความปรุงแต่ง ก็เข้าถึงสุญญตา เข้าถึงพระนิพพาน

Page 1 of 3
1 2 3