ธาตุกรรมฐาน

การปฏิบัติต้องดูให้ถึงกายถึงใจของตัวเอง ถ้าดูรูปไม่ต้องคำนึงหรอก ว่าเป็นมหาภูตรูปหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ดูรูปที่เราดูได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วในกายานุปัสสนา มีส่วนที่เป็นมหาภูตรูป รูปดิน น้ำ ไฟ ลม คือเรื่องธาตุ รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รู้สึกไว้ แล้วต่อไปเราเห็น รูปที่หายใจออกไม่ใช่เรา รูปที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดนี้จะไม่ใช่เรา มันจะเห็นว่าร่างกายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเห็นรูปมันยืน ไม่ใช่เรา รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ไม่ใช่เรา ต่อไปปัญญาความรู้รวบยอดมันก็เกิด รูปทั้งหมดไม่ใช่เรา ตัวนี้ไม่เป็นเรา ที่เรามาหัดดูรูป ดูนาม ดูกาย ดูใจ เพื่อจะได้เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันก็แค่รูปธรรมที่ประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ 4 เป็นสมบัติของโลก ร่างกายเราที่มีดินอยู่นี้ ก็ดินของโลก น้ำที่เรามีอยู่นี้ ก็เป็นน้ำของโลก ฉะนั้นตัวธาตุจริงๆ ไม่ใช่ของเรา

ปรุงทีไรก็ทุกข์ทุกที

ถ้าสติปัญญาเราแข็งแรงพอ เราก็จะเห็นไม่ว่าปรุงอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น คำว่าปรุงแต่ง สังขาร คำว่าภพ คำว่าการกระทำกรรมของจิต ก็คืออันเดียวกันนั่นล่ะ เรียกชื่อแตกต่างกันไป มีภพครั้งใด พระพุทธเจ้าท่านบอก มีภพเกิดขึ้นคราวใดก็มีทุกข์ทุกที สังขารความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ทีนี้เราอยู่กับความปรุงแต่งจนเคยชิน เราไม่เคยเห็นว่าจิตปรุงแต่ง เรามาหัดให้รู้เท่าทันความปรุงแต่งของจิตดู แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไรความทุกข์เกิดขึ้นทุกที กระทั่งปรุงสุข ปรุงสุขจิตก็มีความกระเพื่อมหวั่นไหวขึ้นมา สั่นสะเทือนขึ้นมา มันก็ทุกข์

เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก

ถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์ เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

จิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

วิธีทำความรู้สึกตัว

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป

จิตใจเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แต่ละวันจิตใจของเราไม่เคยเหมือนกันเลย แล้วเราก็บังคับไม่ได้ เขาสอนธรรมะเรา สอนความไม่เที่ยงให้เราเห็น วันนี้เป็นอย่างนี้ๆ มีแต่ความไม่เที่ยง แล้วก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ ค่อยๆ สังเกต แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน พอเราดูตรงนี้ออก เราก็มาสังเกตให้ละเอียดขึ้นไป ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน ตอนเช้า จิตใจเราแบบหนึ่ง ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก วันเดียวกันแท้ๆ จิตใจเราก็ไม่ค่อยเหมือนกันแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เราสังเกตตัวเอง เริ่มสังเกตหยาบๆ หัดสังเกตว่าแต่ละวันจิตใจเราไม่เหมือนกัน ต่อมาเราก็สังเกตได้ละเอียดขึ้น ในวันเดียวกัน แต่ละช่วงเวลา จิตใจเราไม่เหมือนกัน

เราค่อยๆ ปฏิบัติ ทำสม่ำเสมอไป เราก็เห็นได้ประณีตขึ้น ทีแรกรู้หยาบๆ แต่ละวันจิตเราไม่เหมือนกัน ในวันเดียวกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่เหมือนกัน นึกถึงวันก่อนช่วงเวลาเดียวกัน แต่ละวัน จิตใจก็ไม่เหมือนกัน พอดูได้ละเอียด เราจะเห็นจิตใจเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเช้าๆ จิตก็เปลี่ยนไปตั้งเยอะตั้งแยะ

รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป

ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน

การปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก ไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น

วิธีพ้นจากความปรุงแต่ง

การพัฒนาศีลก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาสมาธิก็คือความปรุงแต่งที่ดี การพัฒนาก็คือความปรุงแต่งที่ดี พัฒนาปัญญาเป็นความปรุงแต่งที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นความปรุงแต่งทั้งสิ้น แต่ต้องปรุงแต่ง ถ้าเราไม่ปรุงแต่งศีล สมาธิ ปัญญา จิตมันก็ปรุงแต่งความชั่ว เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว ฉะนั้นเราพัฒนา ทำไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เป้าหมาย ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นความปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เอาความปรุงแต่งมาเป็นจุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางของเราพ้นจากความปรุงแต่ง คือตัววิสังขาร ตัวนิพพาน

ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อย

เวลามีเวลาว่าง 5 นาที 2 นาที 3 นาทีอะไรอย่างนี้ อย่าทิ้งเปล่าๆ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อยู่ก็เหมือนอยู่บ้าน อยู่สบายๆ ไม่ได้อยู่คุก เวลาจิตต้องการไปรู้อารมณ์อื่นๆ มันจะไหลไป ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด ให้เรามีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้มากๆ มากที่สุดที่จะมากได้ มีนาทีหนึ่งก็ฝึกนาทีหนึ่ง มี 5 นาทีก็ฝึก 5 นาที 10 นาทีก็เอา เก็บเล็กเก็บน้อยทั้งวัน ถ้าทั้งวันจิตเราออกข้างนอก ไม่เคยกลับบ้าน คือทิ้งวิหารธรรมไป จิตหนีไปตลอด ตกเย็นจะไปนั่งภาวนา ไปเดินจงกรม ทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน เพราะมันฟุ้งมาทั้งวันแล้ว จิตมันก็เหนื่อย พอจิตเหนื่อย พอไปนั่งสมาธิ ก็นั่งหลับ หรือบางคนมันฟุ้งแล้วมันยังฟุ้งได้ไม่ถึงใจ พอนั่งสมาธิมันก็ฟุ้งต่อ ฉะนั้นถ้าเรามีวินัยในตัวเอง เราไม่ทิ้งเวลาเปล่าๆ มี 5 นาที 10 นาทีอะไร เก็บให้หมดเลย

Page 2 of 3
1 2 3