การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด

อริยสัจเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของธรรมะเลย ครอบคลุมธรรมะทั้งหมดเอาไว้ได้ ในเรื่องของอริยสัจ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ บอกอริยสัจเทียบเหมือนรอยเท้าช้าง ยุคนั้นไม่มีไดโนเสาร์แล้ว ช้างใหญ่ที่สุด ท่านบอกรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย มันไปบรรจุอยู่ในรอยเท้าช้างได้ เล็กกว่ารอยเท้าช้าง ธรรมะทั้งหมดก็ประมวลลงอยู่ในอริยสัจได้ เจ้าชายสิทธัตถะท่านสาวลงมาจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ท่านก็รู้เลย โอ้ ถ้ารู้แจ้งอริยสัจเสียตัวเดียว สังสารวัฏก็ถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย ความเวียนว่ายตายเกิดไม่มีอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านค้นพบในตอนใกล้ๆ สว่างแล้ว ท่านค้นพบแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะขึ้นมา

เข้าใจปฏิจจสมุปบาท

ภาวนาใหม่ๆ รู้สึกจิตผู้รู้มันเป็นตัวสุข จิตผู้หลงมันเป็นตัวทุกข์ จิตยังมี 2 อัน ตัวสุขกับตัวทุกข์ ภาวนาจนถึงจุดหนึ่งจะแจ้งเลย จิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีตัวสุข อันนั้นเรียกว่าเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว พอรู้ทุกข์จริงๆ มันจะวางเลย จะวางจริงๆ วางวัฏฏะลงไป วัฏสงสารถล่มลงตรงนั้น ตรงที่รู้แจ้งในกองทุกข์ของขันธ์ 5 นั้น หรือของอายตนะ 6 หรือของธาตุ 18 ของอินทรีย์ 22 ก็จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เรานึกว่ามี มันแค่การประชุมกันขององค์ธรรมจำนวนมาก อยู่ชั่วคราวก็แตกสลายออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราวไปหมดเลย

หลักต้องแม่น ศิลปะต้องมี

หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง

มีสติอยู่กับปัจจุบัน

จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด

จิตหยิบฉวยจิต

เราต้องดูจิตให้เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ มันก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง แต่ว่าใช้จิตเป็นอารมณ์ ใช้ตัวจิตผู้รู้เป็นอารมณ์ หลังจากนั้นก็ภาวนามาเป็นลำดับๆ แล้วใจมันก็คลายออกจากความทุกข์มาเรื่อยๆ ก็รู้ว่าความอยากเกิดเมื่อไหร่ ใจก็ดิ้นรน ใจดิ้นรนใจก็มีภาระ ใจที่มีภาระก็คือใจที่มีความทุกข์นั่นล่ะ ฉะนั้นจิตยังปล่อยวางจิตไม่ได้ จิตก็มีความทุกข์

Page 2 of 2
1 2