ทาน ศีล ภาวนาเพื่อพัฒนาจิต

เวลาเราทำทานเรามีความสุข จิตใจที่รู้จักให้มันจะพัฒนา อันแรกเลยมันลดความเห็นแก่ตัว อันที่สอง ใจที่รู้จักเกื้อกูลมันจะอ่อนโยน สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนสุดท้ายมันก็มาลงที่การพัฒนาใจทั้งนั้น เรานึกว่าทำทานไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่แท้การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน ต่อมาเราก็ฝึกให้เข้มข้นขึ้น รักษาศีล การรักษาศีลจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง กิเลสมันจะพาเราผิดศีลตลอดเวลา เราก็พยายามรักษาศีลไว้ ไม่ตามใจกิเลสที่จะทำผิดศีล ศีลเป็นการฝึกลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหมว่าทานก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ถัดไปที่ฆราวาสต้องเรียนนั้นคือภาวนา การภาวนามันมี 2 อันคือสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา มันอยู่ที่ว่าฆราวาสจะเอาแค่ไหน ฆราวาสพอใจที่จะภาวนาให้สงบ ให้จิตมีกำลังเพื่อจะไปสู้กับโลกก็ฝึกไป เป็นสมถภาวนา อีกอันหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา ก็มีหลัก มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เมื่อรู้หลักแล้วก็เดินเอา ช่วยตัวเองพยายามพัฒนาตัวเองไป ฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา สุดท้ายมันก็ลดละอกุศลลงไป แล้วก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อม

ศาสตร์ที่ท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ชวนให้เชื่อ

เราต้องรู้หลัก ว่าหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เราจะได้ปฏิบัติได้ถูก แล้วถัดจากนั้นเราก็ลงมือปฏิบัติ เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว เราจะเห็นผลของการปฏิบัติเป็นลำดับๆ ไป เราจะพบว่า ความทุกข์ในใจเราน้ีสั้นลงๆ เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้น เคยทุกข์หนัก ก็ทุกข์น้อย ถ้าฝึกถึงขีดสุดนี่ ไม่ทุกข์อีกต่อไป

เป็นศาสตร์ที่ท้าให้พิสูจน์ ไม่ใช่ชวนให้เชื่อ เป็นความอหังการ กล้าหาญมาก ท้าให้พิสูจน์ เอหิปัสสิโก พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด ไม่ใช่จงเชื่อเถิด ลองดูวิธีที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้ ลงมือทำแล้ว ดูผลด้วยตัวเอง ว่าทุกข์มันน้อยลงไหม ทุกข์มันสั้นลงไหม ถ้าเราพบว่าความทุกข์มันน้อยลงๆ ความทุกข์มันสั้นลงๆ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าก็จะเกิดขึ้น ทุกวันนี้เราเป็นชาวพุทธแต่ชื่อ เราไม่ได้รู้คุณค่าของพุทธศาสนาเลยว่าจะช่วยอะไรเราได้

แด่เธอผู้มาใหม่: เรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่เรียกว่าธรรมะ

เป็นการยากที่เราจะเห็นได้ว่า ธรรมะเป็นเรื่องเรียบง่ายและธรรมดาที่สุด เพราะภาพลักษณ์ของศาสนา หรือของธรรมะ ที่เรารู้จักนั้น ดูอย่างไรก็ไม่ธรรมดาเลย เริ่มตั้งแต่ภาษาที่ใช้ เต็มไปด้วยภาษาบาลี มีศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะมากมาย แค่ทำความเข้าใจศัพท์ก็ยากนักหนาแล้ว

พอรู้ศัพท์แล้วลงมือศึกษาตำราจริงๆ ก็พบความยากอีก คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มีมากเหลือเกิน และตำราที่พระรุ่นหลังลงมาท่านเขียนไว้ ก็มีอีกมากมาย

บางท่านพอใจที่จะลงมือปฏิบัติ ก็มีปัญหาอีกว่า สำนักปฏิบัติมีมากมาย ทุกสำนักบอกว่าแนวทางของตนถูกตรงที่สุดตามหลักมหาสติปัฏฐาน บางทีก็ทับถมสำนักอื่นหน่อยๆ ว่า สอนไม่ตรงทาง

ความยากลำบากนี้ พบกันทุกคนครับ ทำให้ผมต้องนั่งถามตนเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะศึกษาธรรมได้อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องรู้ศัพท์บาลี หรือไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือเข้าสำนักปฏิบัติใดๆ เลย

Page 2 of 2
1 2