ทำสมถะเพื่อให้จิตมีแรงและตั้งมั่น

เราก็ต้องรู้ว่า เราจะทำสมาธิเพื่ออะไร ทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้มีแรง เพื่อให้จิตตั้งมั่น ตอนไหนจิตไม่มีแรง น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญที่ตัวอารมณ์ จิตก็จะมีกำลัง เพราะจิตไม่ได้วิ่งวอกแวก ไปที่อารมณ์โน้นทีอารมณ์นี้ที เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน จิตก็เลยมีแรง วิธีทำให้จิตตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ได้น้อมจิตไปหาลมหายใจ ไม่ได้น้อมจิตไปที่พุทโธ แต่รู้ทันจิต ฉะนั้นสมาธิ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกที่ทำเพื่อความสงบนั้น ตัวอารมณ์เป็นพระเอก อย่างที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวจิตเป็นพระเอก 2 อันนี้จะแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

สมบัติ 4 – วิบัติ 4

ฝึกตัวเอง อย่าเกี่ยง อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ มีธรรมะอยู่หมวดหนึ่ง ที่ว่ากฎแห่งกรรมมันจะทำงานได้ดีไม่ดี คือ เรื่องของสมบัติ 4 ข้อ และก็วิบัติ 4 ข้อ พวกเราทั้งหมด เกิดในภูมิมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นสุคติ ขณะนี้เราก็มีคติสมบัติ อันแรกเราได้เกิดเป็นมนุษย์ อันที่ 2 เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เราสามารถภาวนาได้ เรามีอุปธิสมบัติ คือสภาพร่างกายเราแข็งแรง ยังมีสุขภาพที่พอไปได้ อีกอันหนึ่งเขาเรียกกาลสมบัติ หรือกาลวิบัติ คือเวลา ช่วงเวลา อย่างบางช่วงบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ภาวนาดี ภาวนาง่าย ก็มีกาลสมบัติ เกิดในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย เป็นกาลวิบัติ สมบัติอีกอันหนึ่งเรียกว่า ปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติ มีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ดีแค่ไหน ตัวนี้เป็นตัวที่พวกเราขาดเยอะ อย่างคติสมบัติของเรามี เราเป็นมนุษย์ อุปธิสมบัติของเรามี ร่างกายเรายังแข็งแรง เวลาของเรายังมี ยังไม่ตาย ยังมีเวลาเหลืออยู่ มันอยู่ที่ปโยคสมบัติของเรามีไหม มีความเพียรไหม มีความพากเพียรที่จะภาวนาไหม ถ้าเรามีความเพียรที่จะภาวนา ตัวอื่นๆ สำคัญน้อย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่

ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

จะออกจากวัฏสงสารต้องเด็ดเดี่ยวอดทน

พยายามยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆๆ ไป อดทนๆ ไม่อดทนทำไม่ได้หรอก เส้นทางนี้ มันน่าเบื่อ ให้มันเด็ดเดี่ยวๆ อดทน ล้มลุกคลุกคลานไม่เป็นไร ล้มแล้วลุกขึ้นมา เดินต่อ ลงไปคลุกฝุ่น ลุกไม่ไหว เราคลานไป อย่าอยู่กับที่ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากความทุกข์อันมหาศาล ค่อยทุกข์น้อยลงๆ อดทน จำเป็น ต้องอดทนอดกลั้น อย่าตามใจกิเลสตัวเอง ถ้าตามใจกิเลสตัวเอง มันมีแต่ต่ำลงๆ แล้วบางคนมันตามใจกิเลสตัวเอง แต่ว่ามันฉลาด มันแก้ตัวให้กิเลส หาเหตุผลว่าอันนี้ดีๆ อันนี้ต้องทำๆ เถลไถลไปเรื่อยๆ อันนั้นแก้ตัวให้กิเลส ลืมไปว่าชีวิตของคนไม่ได้ยั่งยืนอะไร คนที่อายุถึงร้อยปีมีสักกี่คน แล้วอายุมากๆ ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อมอะไรอย่างนี้ มันภาวนาลำบาก ตอนที่ยังแข็งแรง รีบภาวนา เหมือนตอนที่แข็งแรงอยู่ รีบหาทางออกจากป่าให้ได้ ป่านี้ก็คือวัฏสงสารนั่นเอง มีเสี้ยนหนามอยู่รอบตัว ก็คือมีความทุกข์ตลอด หันซ้ายก็ทุกข์ หันขวาก็ทุกข์

ความเพียรชอบ

การที่เราคอยสังเกตจิตใจตัวเอง จะทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น อกุศลใดๆ ที่มันมีอยู่ พอเราสังเกตเห็น อกุศลนั้นจะดับ แล้วขณะที่เรามีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ แล้วอย่างเรากำลังมีกิเลสอยู่ แล้วเราเกิดสติขึ้นมา ตรงที่มีสติ อกุศลดับ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะสติมันเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศลทุกๆ ดวง เพราะฉะนั้นทันทีที่เราเกิดสติ กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว อกุศลได้ดับลงไปแล้ว แล้วถ้าสติเราเกิดบ่อยๆ กุศลเราก็เจริญขึ้น พัฒนางอกงามขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แก่รอบขึ้นมา สุดท้ายก็เข้าสู่โลกุตตระ

ฉะนั้นคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป จิตใจเป็นอกุศลให้รู้ทัน จิตใจเป็นกุศลให้รู้ทัน รู้บ่อยๆ การที่เราคอยรู้บ่อยๆ ทำให้สัมมาวายามะเจริญขึ้น พอมีสัมมาวายามะ เราหัดสังเกตจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดีขึ้นด้วย สติมันก็จะดีขึ้นด้วย ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก มันจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นมา บอกแล้ว สัมมาวายามะไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินนาน แต่อยู่ที่รู้ทันจิตใจของตัวเอง

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

อดทนให้เด็ดเดี่ยวลงไป

เรียนธรรมะต้องสู้ ต้องอดทน ต้องเด็ดเดี่ยว ทนอะไรบ้าง อันแรกเลยทนต่อการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ บางทีสิ่งที่ท่านสอนมันกระเทือนกิเลสเรา มันทรมานใจของเรา สิ่งที่ท่านบอกแต่ละอย่าง คือท่านไม่มาประคบประหงมเชียร์ไปเรื่อยๆ ให้เราสบายใจ อย่างนั้นไม่ใช่ ครูบาอาจารย์จริงๆ จะขัดเรา ถ้ากิเลสเราหยาบหนามาก ก็ลงตะไบ รู้จักตะไบไหม อย่างนี้ หรือถ้าหนากว่านั้นก็เอาขวานถากๆ มันหนามาก พอภาวนาไปเรื่อย จิตใจละเอียดประณีต ครูบาอาจารย์ก็เอาตะไบ เอากระดาษทรายแต่งนิดๆ หน่อยๆ แต่งๆ นิดหนึ่ง ตรงนี้นิดหนึ่งๆ มันอยู่ที่เรานั่นล่ะจะได้ธรรมะระดับไหน อยู่ที่ตัวเราเอง แต่ว่าสิ่งที่ได้จากครูบาอาจารย์มีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ อย่ามัวแต่น้อยอกน้อยใจ มาขอกำลังใจขออะไร เสียเวลา หลวงพ่อไม่ชอบคนขี้อ้อน เพราะหลวงพ่อไม่เคยอ้อนครูบาอาจารย์ มีแต่สู้เอา ฉะนั้นเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อก็ต้องต่อสู้ ความอ่อนแอท้อถอยอะไร ไม่มีใครห้ามได้หรอกถ้ามันจะท้อ แต่ท้อแล้วก็ไม่เลิก สู้มัน ขี้เกียจก็ได้ แต่ขี้เกียจแล้วก็สู้มัน ไม่มาคร่ำครวญ

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

กิเลสกลัวคนรู้ทัน

ให้เวลากับการภาวนาของเราให้มากๆ หน่อย ศึกษาธรรมะ มันเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ต้องลงมือปฏิบัติ ศาสตร์อันนี้ท่องจำเอาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราท่องตำรับตำราได้เยอะ กิเลสไม่กลัวความรู้ทั้งหลาย กระทั่งความรู้ในธรรมะที่เล่าเรียน กิเลสกลัวคนรู้ทัน กิเลสมันอยู่ที่จิต ต้องเรียนรู้ให้ถึงจิตถึงใจ พอเราเห็นมัน มันถึงจะกลัวเรา เราไม่เห็นมัน มันก็แอบอยู่ในใจเรา เป็นเจ้านายเรา ตกเป็นทาสโดยไม่รู้สึกตัว

Page 1 of 2
1 2