ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย

หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา

สัทธรรมปฏิรูป

จุดเร่งด่วนที่พวกเราต้องมี คือการศึกษาการปฏิบัติ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ คนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา บางคนก็ไปมองว่า พวกศาสนาอื่นจะมาทำลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ ก็คือพุทธบริษัทนั่นเอง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ แล้วก็เชื่อ คิดผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วก็พูดผิดๆ ออกไป ถ่ายทอดธรรมะที่ผิดออกไป มันมีโทษรุนแรง คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา นึกถึงที่หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตปุถุชน จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปทันทีเลย” มันจะเพี้ยนทันทีเลย

คอยวัดใจตัวเองไว้

คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง

อ่านจิตตัวเองได้จะเข้าใจจิต

อ่านจิตตัวเองให้ออก เข้าใจจิตว่าเป็นอย่างไร เข้าใจจิตว่าจิตไม่เที่ยง เข้าใจจิตว่าไม่ใช่ตัวเราหรอก เราบังคับมันไม่ได้ คือเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาไป นั่นล่ะคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นเราอ่านจิตเราอย่างที่จิตเป็นนั่นล่ะ จิตรักก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตโลภ จิตหลง ก็รู้ไป ในที่สุดปัญญามันจะเกิด จิตแต่ละอย่างไม่เคยเที่ยง โกรธก็ไม่โกรธตลอด รักก็ไม่รักตลอด จิตทุกอย่างเราสั่งไม่ได้ มันทำงานของมันเอง มันโกรธเรา มันก็โกรธได้เอง มันรัก มันก็รักได้เอง นี่เห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการอ่านจิตตนเอง เราก็จะเห็นความจริงของจิตว่า จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นตรงนี้ เราก็ได้ธรรมะแล้ว

รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิต

ความรู้สึกเปลี่ยนจากการกระทบอารมณ์ แล้วมีการให้ค่า กระทบเฉยๆ ยังไม่เท่าไร กระทบแล้วมันมีการให้ค่า เป็นธรรมชาติก็ต้องมีการตีความ อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วจิตก็จะปรุงต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงตามหลังการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ เป็นอารมณ์ข้างนอก กระทบแล้วจิตมีความเปลี่ยนแปลง ตีค่า แล้วก็เกิดยินดียินร้าย เกิดพอใจไม่พอใจขึ้นมา แต่ว่าการกระทบอารมณ์มันมีอีกแบบหนึ่ง คือกระทบด้วยใจโดยตรง ไม่ได้กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่กระทบด้วยจิตโดยตรงก็มี อย่างเวลาเรานั่งอยู่ดีๆ เราไปนึกถึงคนที่เราเกลียด พอนึกถึงปุ๊บโทสะขึ้นเลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ทัน มีการกระทบทางใจขึ้นโดยตรง ไม่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็เกิดการความเปลี่ยนแปลง ให้เรามีสติรู้ทัน ใจมันปรุงต่อ ให้เราตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป

อ่านใจตัวเองให้ออก

เราต้องฝึก ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ ต่อไปพอจิตมันโกรธ เราไม่ได้เจตนารู้ มันรู้เองว่าตอนนี้โกรธแล้ว หรือเราฝึกบ่อยๆ พอจิตมันโลภ เรารู้เองว่าตอนนี้มันโลภแล้ว อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีสติ ไม่ได้ต้องกำหนด ถ้านั่งจ้องรอดูอยู่ จะโกรธเมื่อไร จะโกรธหรือยัง ไม่ได้เรื่องหรอก ไม่มีอะไรให้ดูหรอก มันเฉยๆ ฉะนั้นจับหลักตัวนี้ให้แม่น แล้วเราจะก้าวหน้า

ละความเห็นผิดแล้วจึงละความยึดถือ

จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ คนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์

วิมุตติเกิดเมื่อเห็นไตรลักษณ์มากพอ

พอมันยอมรับว่าทุกอย่างเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตจะยุติการดิ้นรนทันทีเลย เรียกยุติสังขารหรือยุติการสร้างภพ สังขารในใจเราคือภพ เรียกว่าภพ เรียกว่ากรรมภพ พอไม่มีความดิ้นรนอันนี้ จิตก็หมดภาระ จิตก็เป็นอิสระต่อสังขาร จิตที่เป็นอิสระต่อสังขาร เรียกว่าวิสังขาร จิตที่ไม่หลงตามกิเลสตัณหาทั้งหลาย เรียกว่าวิราคะ ตัวตัณหา ตัวราคะ

วิราคะก็ชื่อของนิพพาน วิสังขารก็ชื่อของนิพพาน วิมุตติ จิตหมดความยึดถือในรูปนาม ก็เป็นความหมายของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อไรจิตเราสิ้นตัณหาเมื่อนั้นเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตเราพ้นจากความปรุงแต่ง จิตเราก็สัมผัสพระนิพพาน เมื่อไรจิตปล่อยวางรูปนามขันธ์ 5 ได้หมด ปล่อยวางจิตได้ จิตก็สัมผัสพระนิพพาน ฉะนั้นค่อยๆ ภาวนา เบื้องต้นก็เป็นกลางด้วยสติ ได้สมาธิเกิดขึ้น เบื้องปลายเป็นกลางด้วยปัญญา ก็จะได้วิมุตติ ได้ความหลุดพ้น

หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อให้ดูจิต

สิ่งที่หลวงปู่ดูลย์สอน เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ถ้าเราสามารถตัดตรงเข้ามาที่จิตเรา การปฏิบัติจะเหลือนิดเดียวเลย แต่ถ้าเรายังเข้ามาที่จิตไม่ได้ เราก็อ้อมๆ ไปก่อน ไปดูกาย ดูเวทนา ดูสังขารอะไรไป แต่ถ้าตัดตรงเข้ามาเห็นจิตได้ เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วดับ จิตโลภ โกรธ หลงเกิดแล้วดับ อย่างนี้ดูจิตไปเลย วันไหนดูไม่ไหว จิตไม่มีกำลัง ไปดูกาย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไป จิตมันมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเข้ามาดูจิตได้เอง นี่เส้นทางที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อมา แล้วหลวงพ่อก็เอามาทำ ใช้เวลาไม่มาก

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น